วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ข้อคิดจากน้ำท่วมกรุงเทพฯ

ข้อคิดจากน้ำท่วมกรุงเทพฯคราวนี้  ไม่ได้เป็นข้อคิดของตนเองในการที่จะคิดอะไรได้มากมายนักเพราะมีส่วนได้รับผลกระทบไม่มากนักเพียงเพราะเพชรบุรีปีนี้น้ำไม่ท่วม และก็ไม่แล้งจนเกินไปพอมีน้ำทำนาปลูกพืชผักไว้กินและเผื่อแผ่ถึงคนกรุงเทพเมืองฟ้าอมรตอนน้ำและหลังน้ำท่วม แต่หลายคนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมได้เขียนข้อคิดดีๆเอาไว้น่าจะมีประโยชน์ ขำขำ และขำไม่ออกเหมือนกันเช่น
           น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นมาในชั่วชีวิตคนร่วมสมัยครั้งนี้ นอกเหนือจากความเสียหาย ความทุกข์กายทุกข์ใจที่บังเกิดกับผู้ประสบภัยแล้ว อีกด้านหนึ่งคือการสะท้อนถึงจุดอ่อน หรือความเสี่ยง ของวิถีชีวิตของคนส่วนใหญ่ในปัจจุบันและเห็นได้ชัดว่าคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนในเมืองใหญ่ ไม่สามารถ ช่วยตัวเองได้ในเรื่องที่เป็นความจำเป็นพื้นฐาน ชีวิตที่ต้องพึ่งพา ความสะดวกสบาย หิว หรือกระหายน้ำ ขึ้นมาเมื่อไร ก็เดินเข้าร้านสะดวกซื้อ ซื้ออาหารสำเร็จรูป ซื้อน้ำดื่มบริโภคเมื่อระบบการผลิต และกระจาย สินค้า ซึ่งกระจุกตัวอยู่ในแหล่งเดียวกัน พังทะลายลงเพราะกระแสน้ำ บะหมี่สำเร็จรูป น้ำดื่ม ไข่ไก่ ข้าวสาร ก็หายไปจากชั้นในห้างโมเดิร์นเทรดขนาดใหญ่ และร้านสะดวกซื้อ ที่กระจายอยู่ทุกซอกซอยใน กรุงเทพฯ เพราะผู้คนแตกตื่นแห่กันไปซิ้อตุนไว้ของเก่าหมดไป ในขณะที่ของใหม่ไม่มีเข้ามาเติมเนื่องจากโรงงาน และศูนย์กระจายสินค้าถูกน้ำท่วม
           ร้านโชห่วยแบบเก่า ที่ไม่สามารถแข่งขันกับร้านสะดวกซื้อสมัยใหม่จนต้องปิดกิจการไป เกือบหมด รถเร่ขายของสด เครื่องอุปโภคบริโภคตามชุมชน กลายเป็นที่พึ่งพาในยามยาก แม้อาจจะไม่ได้เต็มร้อย แต่ก็พอจะฝาก ชีวิตไว้ได้ เพราะร้านค้าเหล่านี้ อยู่นอกระบบ การจัดการค้าสมัยใหม่ ที่รวมศูนย์การกระจาย สินค้าไว้กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่เพียงเจ้าเดียวร้านค้าเหล่านี้มีแหล่งป้อนสินค้ หรือ ยี่ปั๊ว ขนาดกลาง ขนาดย่อม ที่กระจายกันไป ตามทำเลที่ตั้งของร้าน ไม่ได้กะจุกตัวอยู่ภายใต้ศุนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ เพียงรายเดียว เหมือนร้านสะดวกซื้อ และห้างขายปลีกขนาดใหญ่ จึงไม่ได้จมน้ำไปพร้อมๆ กับศูนย์กระจายสินค้า ด้วยน้ำท่วมครั้งนี้ จึงสะท้อนถึงความเสี่ยงของผู้คนส่วนใหญ่ ที่มีชีวิตประจำวันขึ้นต่อ ระบบการค้าปลีก สมัยใหม่ ที่รวมศูนย์ผูกขาดทุกสิ่งทุกอย่างไว้กับผู้ให้บริการเพียงรายเดียว เป็นความเสี่ยงที่ในยามปกติ มองไม่เห็น คาดไม่ถึง เพราะคงไม่มีใครจิตนาการได้ว่า ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ที่เปิด 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด จะไม่มีน้ำขายแม้แต่ขวดเดียว
          เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่คราวนี้ สาเหตุหนึ่ง เป็นเพราะมนุษย์รุกล้ำธรรมชาติมากเกินไป และ ธรรมชาติก็กำลังเอาคืนกับมนุษย์แบบ จัดหนักและ จัดเต็ม’ (ทุกพื้นที่)- อดคิดไม่ได้ว่า หลังน้ำลด และกลับเข้าสู่ภาวะปรกติแล้ว จะทำอย่างไรดีกับจำนวนกระสอบทรายจำนวนอภิมหามหึมา นับล้านๆ กระสอบหรือจะเอาไว้ใช้ปีหน้า หลายๆ คนที่เคยสงสัยว่า สัตว์ประเภท กบ เขียด ปาด คางคก อึ่งอ่าง มันมีชีวิต และอาศัยอยู่กันได้อย่างไร ในระบบนิเวศน์ที่ชื้นแฉะ เปียกๆ ปอนๆ….ยามนี้ความสงสัย นั้นได้ถูกเฉลยแล้วเมื่อรู้ว่ามนุษย์ก็ได้กลายเป็น มนุษย์ครึ่งบก ครึ่งน้ำและที่น่าสนใจมากขึ้นอีกในประเทศไทย คือประเทศหนึ่งเดียวที่เพาะเลี้ยงและส่งออกจระเข้มากที่สุดในโลกโดยมีการส่งออกกว่า 500,000 ตัว/ปี ส่วนมาตรการดูแลป้องกัน (การหลุดรอดออกไป ยามเกิดอุทกภัย) อยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐาน และนั่นเป็นสาเหตุของการ เพ่นพ่านไปทั่ว อยู่ทุกวันนี้และเจ้าของฟาร์มจระเข้ ได้ออกมาชี้แจง และให้คำรับรองผ่านสื่ออย่างเป็นทางการว่า จระเข้ตัวเล็กๆ ความยาวจากหัวจรด หางไม่เกิน 2 เมตร จะไม่มีนิสัยดุร้าย อาจจะมีการกัดหรืองับ เล่นๆ แบบสุนัขบ้างเท่านั้น และคงจะตลกพิลึกถ้าวันใดวันหนึ่ง มีจระเข้ขึ้นไปนอนอ้าปาก อาบแดดยามเช้าอย่างสบายใจ ที่อนุสาวรีย์ชัยฯ เซ็นเตอร์พอยท์ ลานเซ็นทรัลเวิลล์
คนที่อาศัยอยู่ กทม. ส่วนใหญ่เป็นคนมีพื้นเพมาจากต่างจังหวัด มีพ่อแม่ ปูย่า ตายายอยู่ต่างจังหวัด ร้อยวัน พันปี จึงจะกลับไปเยี่ยมเยียนท่านเหล่านั้นสักครั้ง หรือไม่ก็ต้องรอเมื่อมีโอกาส หรือวันสำคัญ แต่พอ ระดับน้ำภายในบ้านเริ่มสูงขึ้นอยู่ๆ ก็เกิดอาการ สำนึกรักบ้านเกิดขึ้นมาซะงั้น แห่กันหนีออก ต่างจังหวัด กลับบ้านเกิด รถติดยาวเหยียด
          ในสยามประเทศแห่งนี้ มีบรรดาผู้ที่เรียกตนเองอย่างภาคภูมิใจว่าเป็น ผู้มีความรู้ ผู้มีปัญญา และมี อยู่เต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด ดีกรีนักเรียนนอกเรียนจบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกปริญญาหลายใบ ยาวเป็นหางว่าว ร่ายยาวเรื่องทฤษฎีหลักกลศาสตร์ของไหล ให้พวกเราชาวบ้านฟัง ทุกค่ำ-เช้า ผลก็อย่างที่เห็น กันอยู่เถียงกันไปเถียงกันมา สุดท้ายก็บริหารแบบจมโดยทั่วกัน นครสวรรค์ยันกรุงเทพฯ แต่ตาคำ อาชีพทำนา อยู่ที่บ้านหนองอีโก้ง เรียนจบ ป. 2 พูดสอนให้หลานๆ ฟังว่า น้ำมา ก็ปล่อยให้มันไหลไปแค่ทำทางให้มันไหล ไปสู่ที่ต่ำ เหมือนกับที่เวลาฝนตกที่บ้าน แค่ขุดทางน้ำให้มันไหลไปที่ต่ำ เดี๋ยวมันก็ไหลออกไปหมดเอง แต่ถ้ายิ่งไปกั้นมัน มันก็ยิ่งสูง และเมื่อยิ่งสูงก็ยิ่งมีแรงดัน ถ้ามันพังครืนลงมา ก็เดือดร้อนมาก เสียหายมากท่านผู้มีความรู้ ผู้มีปัญญา ของบ้านเมืองนี้ เพิ่งจะนึกออกหรืออย่างไรมิทราบได้ร่งพากันเจาะช่องทางน้ำ ไปสู่ที่ต่ำ ตามแนวทฤษฎีบ้านๆ อย่างตาคำผู้มีความรู้แค่ ป. 2
          คนรวย มีฐานะ อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน โครงการแพงๆ เตรียมอาหาร น้ำดื่ม ทุกสิ่ง ทุกอย่าง มีพร้อมสรรพ แต่ทำไมถึงเกิดปรากฏการณ์หนีตายต้องการอพยพออกจากหมู่บ้าน เพียงแค่ไม่มีไฟฟ้าใช้ไม่ได้กินข้าวกินน้ำยังอยู่ได้ ทนได้แต่ถ้า ไม่ได้โทรศัพท์+อัพเฟสบุ๊ค+lookทวิตเตอร์นั่น อาจถึงแก่ชีวิต ต้องอพยพหนีออกมา (โฆษณาที่ว่า น้ำกับไฟฟ้า อะไรสำคัญกว่ากันคนกลุ่มนี้ ขอเลือกไฟฟ้า)
และสุดท้ายท่านครับเขื่อน เขามีเอาไว้เพื่อประโยชน์ในการช่วยชะลอน้ำในฤดูน้ำหลาก ไม่ให้น้ำไหลบ่า พรวดพลาด หลากเข้าท่วมบ้านเรือน เรือกสวนไร่นา และอีกทั้งยังประโยชน์ในการกักเก็บน้ำ นั้น เพื่อเอาไว้ใช้ในฤดูแล้ง แต่ ณ ดินแดนประเทศนี้.เขื่อนกลับกลายเป็นต้นตอเป็นต้นเหตุแห่ง อุทกภัยพื้นที่ใต้เขื่อนทั้งหลายทั่วประเทศ ใครที่คิดว่ามีเขื่อนจะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ ก็คิดใหม่ว่าเขื่อนคือตัวการที่ทำให้น้ำท่วมได้เช่นกัน
          ข้อคิดจากน้ำท่วมกรุงเทพฯ ครานี้เป็นบทเรียนที่คนเพชรบุรีได้เรียนรู้ประสบการณ์ของชีวิตอันแท้จริงได้อย่างชัดเจน ไม่มีใครมาคาดการณ์อนาคตของพิบัติได้ถูกต้องแม่นยำ แต่เราผู้เป็นมนุษย์ในธรรมชาติต้องเตรียมการรับมือกันไว้อย่างไม่ประมาท บทเรียนนี้คงเป็นบทเรียนที่ต้องสำนึกและจดจำกันไว้ตลอดกาล

วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2555

วิกฤตลุ่มน้ำเพชรบุรีอนาคตที่ต้องเตรียมการ

น้ำจัดเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์ ซึ่งเคยมีให้ใช้ได้อย่างไม่จำกัด แต่หลายปีที่ผ่านมานี้ หลายประเทศในโลกกลับต้องประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก การพัฒนาทางเศรษฐกิจ และการทำลายระบบนิเวศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดไม้ทำลายป่าของมนุษย์ จนทำให้เกิดภัยธรรมชาติในรูปแบบต่างๆ การตระหนักถึงวิบัติภัยจากน้ำ ได้รับการกระตุ้นและปลุกกระแสความตื่นตัวทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย แม้ว่าปัญหาการขาดน้ำในประเทศไทยจะยังพอรับมือได้ แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถละเลยได้ต่อไป หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ซึ่งมีไม่น้อยกว่า 32 หน่วยงาน ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่นับวันปัญหาวิกฤตน้ำยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากการแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างไร้ทิศทาง ปราศจากนโยบายที่ชัดเจน และขาดการบูรณาการร่วมกัน
         ลุ่มน้ำเพชรบุรี ประกอบด้วยแม่น้ำเพชรบุรีและแม่น้ำสาขาเพชรบุรีตอนล่างที่ติดต่อกัน ในเขตอำเภอเมืองและบ้านแหลม  ตลอดความยาวของแม่น้ำในบริเวณลุ่มน้ำเพชรบุรี  มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจของชุมชนที่ต้องมีการใช้น้ำอย่างต่อเนื่อง   และเพิ่มขึ้นเหนือการคาดประมาณ  การบริหารจัดการน้ำเป็นองค์ความรู้ที่ต้องใช้กระบวนการใหม่คือประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น    การบริหารจัดการน้ำต้องใช้ความรู้หลายสาขาวิชาและข้อมูลจากแหล่งต่างๆ มารวมกันที่เรียกว่าบูรณาการ  ความสำเร็จของการผสมผสานอยู่ที่การให้ทุกภาคส่วนได้รับความรู้และร่วมกันรับผิดชอบมากขึ้น  ดังนั้นการบริหารจัดการน้ำจึงไม่ใช่หน้าที่ของผู้ใด  หรือหน่วยงานใดที่ต้องรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว  จังหวัดเพชรบุรีมีหน่วยงานประสานงานเรื่องน้ำ  เรียกว่าฝ่ายทรัพยากรน้ำจังหวัด เป็นองค์กรใหม่ภายใต้การกับดูแล ของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเพชรบุรี การดำเนินการบริหารจัดการมีการกำกับดูแลและพิจารณาจากคณะอนุกรรมการลุ่มน้ำแต่อย่างไรก็ตาม  ปริมาณน้ำในลุ่มน้ำทุกลุ่มน้ำมีจำนวนน้อยลงทุกขณะ  เนื่องจากระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไป  อากาศที่ร้อนขึ้นทำให้การกลั่นตัวของไอน้ำซึ่งอาศัยความเย็นลดลง เพราะบริเวณที่เป็นป่าไม้น้อยลงทุกวัน   กรมชลประทานมีหน้าที่ในการจัดหาและแจกจ่ายน้ำตามระบบที่สร้างขึ้นโดยหลักวิชาการมามากว่า ร้อยปี พบว่าปริมาณการใช้น้ำในทุกภาคส่วนในประเทศไทยสูงขึ้นทั้งการเกษตร อุตสาหกรรม  และภาคครัวเรือน แต่น้ำจืดลดลง  ปริมาณน้ำฝนที่ตกทุกปี  สามารถกักเก็บไว้ใช้ได้เพียงไม่ถึง 20 % ของน้ำฝนทั้งหมด    ปริมาณกักเก็บของจังหวัดเพชรบุรีทั้งในเขื่อนขนาดเล็กและแก่งกระจานทำได้สูงสุดในปัจจุบันคงไม่เกิน 682 ล้านลูกบาศก์ก็เมตร จากปริมาณน้ำท่าที่คาดว่าจะมี  1385  ล้านลูกบาศก์ก็เมตร ในขณะเดียวกัน   ความต้องการใช้คือราว 861 ล้านลูกบาศก์ก็เมตร จากข้อมูลดังกล่าวเราจะเห็นมีความขาดแคลนเกิดขึ้นแล้ว  แต่ยังไม่ถึงวิกฤติ
            การดำเนินการเรื่องน้ำจำเป็นต้องดำเนินการวางแผนและโครงด้านการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบเป็นต้นว่า การจัดหาน้ำซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะต้องบูรณาการต่อเนื่องกับระบบการอนุรักษ์ป่าไม้ อนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำ  การสร้างความเข้าใจในการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศแก่ชุมชน การวางแผนแม่บทในการอนุรักษ์น้ำ รวมทั้งจัดทำระบบเครือข่ายน้ำทั้งระบบ    ด้านการบริหารจัดการน้ำ ต้องสร้างขีดความสามารถในการใช้น้ำ โดยให้การศึกษาต่อระบบการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ  ลดการสูญเสียทั้งในระบบและนอกระบบ  เช่น การส่งน้ำทางท่อเพื่อลดการระเหย   การในน้ำพืชโดยการใช้ระบบน้ำหยดแทนการใช้ระบบปัจจุบัน   ในเรื่องของชุมชน นอกจากความรู้ในการบริหารจัดการน้ำแล้วยังต้อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในการดำเนินการมีส่วนร่วมบริหารจัดการด้วยตนเอง  สร้างวัฒนธรรมใหม่กับการใช้น้ำ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ  รวมทั้งมีส่วนร่วมที่จะกำหนดพื้นที่ผังเมืองรวม  และศึกษา ความสามารถของลุ่มน้ำในการที่จะรองรับกิจกรรมของชุมชน  ไม่ว่าจะเป็นการเกษตร การอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว  บทเรียนของลุ่มน้ำในภาคตะวันออกเป็นสิ่งที่ต้องจดจำ  และเตือนประชากรทุกภาคส่วนของประเทศ ในการพร้อมรับวิกฤตการน้ำในอนาคต  การไม่เตรียมการล่วงหน้า การไม่ศึกษาบทเรียน เป็นหายนะ ของมวลมนุษยชาติ  วันนี้ชาวเพชรบุรีพร้อมหรือยังที่ต้องเข้ามีส่วนร่วมในการจัดการลุ่มน้ำเพชรบุรีของเราด้วยตัวเราเอง

วันเสาร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2553

ความรู้เรื่องพิษแมงดาทะเล

ความรู้เรื่องพิษแมงดาทะเล

เมื่อกล่าวถึงแมงดาความหมายในความคิดคือสัตว์ที่ตัวผู้ที่เกาะหลังตัวเมียหากินอยู่ในทะเล เป็นตัวแทนของผู้ชายในสังคมปัจจุบันที่ไม่ทำมาหากิน อาศัยผู้หญิงที่ประกอบอาชีพที่ไม่เหมาะสมเพื่อกดขี่หารายได้ในการเลี้ยงชีวิตไปวันๆ ด้วยเหตุที่มีการพบเห็นและเปรียบเทียบกับแมงดาทะเลที่มองเห็น ในความจริงแล้วการที่แมงดาทะเลเกาะหลังกันเป็นวงจรชีวิตของสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่มีชีวิตมานามมากกว่า 470 ล้านปีโดยที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างน้อยมาก จากพบซากดึกดำบรรพ์ ของสัตว์ทะเลพบว่า แมงดาทะเลมีวิวัฒนาการน้อยมาก และสามารถอยู่รอดในทุกสภาพการเปลี่ยนแปลงทุกระบบนิเวศ
               แมงดาทะเลเป็นสัตว์ทะเลโบราณที่ยังคงเหลืออยู่ในโลกปัจจุบันเพียง 4 ชนิด ที่ พบในทะเลไทยมีอยู่ 2 ชนิด คือแมงดาจานหรือแมงดาหางเหลี่ยม  และ แมงดาถ้วยหรือแมงดาหางกลม  ทั้งสองชนิดมีความเป็นอยู่ในสภาพแวดล้อมต่างกัน แมงดาจานอาศัยอยู่ตามพื้นทะเล วางไข่ตามริมชายฝั่งที่เป็นดินทราย ส่วนแมงดาถ้วยอาศัยอยู่ตามพื้นทะเลที่เป็นดินโคลนและตามลำคลองในป่าชายเลนเท่า ที่มีรายงานในประเทศไทย เฉพาะแมงดาหางกลมเท่านั้นที่อาจเป็นพิษ และมักเรียกชื่อแมงดาที่เป็นพิษว่าแมงดาไฟ หรือ เหรา จนบางครั้งทำให้เข้าใจสับสนว่า เหรา เป็นแมงดาชนิดที่สาม จากคำบอกเล่ามักอธิบายถึงลักษณะของเหราว่าตามลำตัวมีขนยาวที่นักอนุกรมวิธาน ได้ศึกษาแน่ชัดแล้วว่า แมงดาไฟ หรือ เหรา ก็คือแมงดาหางกลมบางตัวนั่นเอง การเป็นพิษนั้นจะเกิดเฉพาะช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - กันยายน เหตุที่แมงดาถ้วยมีพิษเป็นบางช่วงนี้ สันนิษฐานว่าเวลาดังกล่าวอาจมีการเจริญแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วของแพลงก์ตอน บางชนิด เช่น ไดโนแฟลกเจลเลต ที่สร้างสารพิษ แล้วแพลงค์ตอนชนิดดังกล่าวถูกกินโดยหอยหรือหนอนซึ่งเป็นสัตว์หน้าดิน เมื่อพิษเข้ามาสะสมในหอยหรือหนอนแล้วถูกกินโดยแมงดาทะเล พิษจึงมาสะสมอยู่ในเนื้อและไข่ของแมงดาถ้วย เมื่อคนบริโภคแมงดาถ้วยตัวที่มีสารพิษสะสมอยู่ จึงทำให้เกิดอาการพิษได้ แม้ว่าจะได้ปรุงไข่หรือเนื้อที่บริโภคให้สุดแล้วก็ตาม
               อาการเป็นพิษมักเกิดขึ้นภายหลังรับประทานแมงดาทะเลประมาณ 10-45 นาที หรืออาจช้าไปจนถึง 3 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับชนิดและแหล่งที่อยู่ของแมงดาทะเล ฤดูกาล จำนวนที่รับประทาน หรือปริมาณของสารพิษที่ได้รับ เช่นรับประทาน ไข่แมงดา อาการพิษจะเกิดรุนแรงกว่ารับประทานเฉพาะเนื้อ อาการมักเริ่มจากมึนงง รู้สึกชา บริเวณลิ้น ปาก ปลายมือ ปลายเท้าและมีกล้ามเนื้ออ่อนแรง เริ่มจาก มือ แขน ขา ตามลำดับ รวมทั้งอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย บางรายอาจมีน้ำลายฟูมปาก เหงื่อออกมาก พูดลำบาก ตามองเห็นภาพไม่ชัด ในรายที่มีอาการรุนแรงมาก จะมีผลทำให้กล้าม เนื้อหายใจอ่อนแรง ผู้ป่วยอาจตายภายใน 6-24 ชั่วโมง จากการหยุดหายใจ  อาการพิษจากแมงดาทะเลนั้นยังไม่มี ปริมาณของพิษเฉพาะ จึงต้องให้การรักษา โดยเอาสิ่งที่เป็นพิษออกจากร่างกายให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการทำการรักษาแบบใด ควรเฝ้าระวังดูแลเกี่ยวกับการหายใจ ถ้าหยุดหายใจ อาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ สาเหตุของการเกิด
          
               การระบาดในครั้งนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด ข้อมูลการทดสอบความเป็นพิษเบื้องต้น พบว่า แมงดาถ้วยที่พบในประเทศไทย บางตัวมีพิษ บางตัวไม่มีพิษ โดยทั่วไปพบว่ามีพิษประมาณ 30 % แต่ไม่สามารถแยกตัวที่มีพิษกับตัวที่ไม่มีพิษจากลักษณะภายนอกได้ จากการสอบถามผู้ป่วย ส่วนใหญ่รับประทานแมงดาถ้วย สาเหตุที่รับประทานแมงดาถ้วย  ประการแรก เพราะความเชื่อผิดๆ ของ ชาวบ้านว่า ตัวเห-รามีพิษ แต่แมงดาถ้วยไม่มีพิษ ตัวเห-ราสามารถแยกจากแมงดาถ้วย คือ ตัวมีขนและ ตาแดง ประการที่สอง ปัจจุบันมีชาวประมงจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้น ซึ่งอาจจะไม่มีความรู้ในการแยกประเภท แมงดาประการที่สาม ในปีนี้พบแมงดาถ้วยเพิ่มขึ้นและแมงดาจานลดลงอย่างมาก   เป็นอัตราส่วน แมงดาจานต่อแมงดาถ้วย 1 : 100 ซึ่งสาเหตุดังกล่าวยังไม่ทราบแน่ชัด

        
อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยบางรายยืนยันว่าเป็นพิษจากแมงดาจาน ซึ่งไม่เคยเป็นพิษมาก่อน  นอกจากนี้ข้อมูล การระบาด พบการเป็นพิษของแมงดาทะเล ก่อนหน้านี้ปีละ 0-1 ราย แต่ในการระบาดครั้งนี้มีผู้ป่วย เป็นร้อยราย และรายงานผู้ป่วยเป็นกลุ่มบริเวณจังหวัดสมุทรปราการถึงชลบุรี ซึ่งถ้าเป็นจากแมงดาจาน มีพิษจริง อาจจะเกิดจาก การผสมข้ามพันธุ์ หรือจากการสร้างสารพิษขึ้นใหม่เนื่องจากสภาวะสิ่งแวดล้อม  หรือเกิดปรากฏการณ์น้ำแดง  ข้อสรุปดังกล่าวยังต้องศึกษาต่อไป  สำหรับปรากฏการณ์น้ำแดง หรือน้ำทะเลเปลี่ยนสี เป็นปรากฏการณ์ที่สีของน้ำทะเลเปลี่ยนไป เป็นสีเขียว สีน้ำตาลแดง หรือสีแดง สาเหตุที่น้ำทะเลเปลี่ยนสีเนื่องจากมีการเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์  ของแพลงตอนหรือสาหร่ายเซลล์เดียว  จำพวก ไดโนเจลเฟลเล็ต จำนวนมาก โดยทั่วไป ถ้าสภาวะอาหารน้อยสาหร่ายเซลล์เดียวจะแพร่พันธุ์ทำให้เกิด  ตกตะกอนอยู่บนพื้นทะเลแต่ในบางเวลาที่สภาวะสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม   สาหร่ายเซลล์เดียวเหล่านี้จะขยายพันธุ์แบบ ไม่ใช้เพศ คือการแบ่งตัวที่ทำให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยปกติสาหร่ายเซลล์เดียว มี 2-3 ตัวใน น้ำ 1 ลิตร ในภาวะ เข้มข้นอาจแบ่งตัวมากถึง 20 ล้านตัว ในน้ำ 1 ลิตร   ผลกระทบของน้ำเปลี่ยนสี คือทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำตายด้วยสาเหตุต่างๆ เช่น อุดตันที่เหงือก ปริมาณ ออกซิเจน ในน้ำน้อยลง และตายจากสารพิษเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคสัตว์น้ำ เช่น หอย 2 ฝา ที่สะสมสารพิษที่สร้าง จากสาหร่าย เซลล์เดียวไว้ในตัวผู้ที่บริโภค หอยที่ปนเปื้อนสารพิษก็ จะเกิดพิษขึ้น
                ในต่างประเทศ มีรายงานการตายของสัตว์เศรษฐกิจชนิดต่างๆ หรือการตายของสัตว์อนุรักษ์ เช่น ปลาวาฬ ซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจจำนวนไม่น้อยปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี  กำลังจะเป็นปัญหาสำคัญของ โลกปัญหาหนึ่ง ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ  ปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีพบบ่อยขึ้นหลายเท่าในบริเวณที่เคยพบภาวะน้ำแดง สาเหตุที่พบน้ำทะเลเปลี่ยนสีบ่อยขึ้น เข้าใจว่าเกิดจากมลภาวะตามชายฝั่งทะเล โดยเฉพาะตามเมือง ใหญ่ๆ จากการศึกษายืนยันว่าถ้าอัตราส่วนของ ไนโตรเจน หรือ ฟอสฟอรัส ซึ่งเป็นของเสียที่ปล่อยลงในทะเลต่อ ซิลิก้า สูงขึ้น จะทำให้สาหร่ายเซลล์เดียวชนิดเป็นพิษแน่นหนามาก ขึ้น 
และ ได้มี ปรากฏการณ์ดังกล่าว เกิดในบริเวณที่ไม่เคยเกิดทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย สาเหตุที่สำคัญเนื่องจากปัจจุบันมีการเดินเรือติดต่อกันทั่วโลก เรือเหล่านี้สามารถนำเซลมีชีวิต ของสาหร่ายเซลล์เดียว  จากที่หนึ่งแพร่ ไปอีกที่หนึ่งได้โดยง่าย       ในประเทศไทยได้มีการศึกษาภาวะน้ำแดงในอ่าวไทย พบว่ามักจะเกิดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึง พฤษภาคม 
       พิษของแมงดาทะเลมีอันตรายมากถึงชีวิตได้ ถ้ารับประทานโดยไม่มีข้อมูลที่ถูกต้อง การศึกษากับความเชื่อของชุมชนยังแตกต่างกันอยู่ แต่อย่างไรก็ตามแมงดาทะเลที่ต้องอาศัยชายฝั่งเป็นที่วางไข่และขยายพันธุ์ ถูกมนุษย์สัตว์ที่มีวิวัฒนาการเพียง 1 ล้านปี ขยายกิจการเพื่อการท่องเที่ยว เพาะเลี้ยง และทำกิจกรรมอื่นๆ จนไม่สามารถให้พวกมันขยายพันธุ์ได้ ตำนานสัตว์ดึกดำบรรพ์ 470  ล้านปีคงจบสิ้นไปในยุคนี้แล

                                                                  อาคเณย์  กายสอน
                                              

วันศุกร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2553

ภาวะโลกร้อนกับข้อมูลที่น่าสนใจ



         ภาวะโลกร้อน หรือ ภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เป็นปัญหาใหญ่ของโลกเราในปัจจุบัน สังเกตได้จาก อุณหภูมิ ของโลกที่สูงขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุหลักของปัญหานี้ มาจาก ก๊าซเรือนกระจก ค่ะ ปรากฏการณ์เรือนกระจก มีความสำคัญกับโลก เพราะก๊าซจำพวก คาร์บอนไดออกไซด์ หรือ มีเทน จะกักเก็บความร้อนบางส่วนไว้ในในโลก ไม่ให้สะท้อนกลับสู่บรรยากาศทั้งหมด มิฉะนั้น โลกจะกลายเป็นแบบดวงจันทร์ ที่ตอนกลางคืนหนาวจัด (และ ตอนกลางวันร้อนจัด เพราะไม่มีบรรยากาศ กรองพลังงาน จาก ดวงอาทิตย์) ซึ่งการทำให้โลกอุ่นขึ้นเช่นนี้ คล้ายกับหลักการของ เรือนกระจก (ที่ใช้ปลูกพืช) จึงเรียกว่า ปรากฏการณ์เรือนกระจก แต่การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของ CO2 ที่ออกมาจาก โรงงานอุตสาหกรรม รถยนต์ หรือการกระทำใดๆที่เผา เชื้อเพลิงฟอสซิล (เช่น ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หรือ สารประกอบไฮโดรคาร์บอน ) ส่งผลให้ระดับปริมาณ CO2 ในปัจจุบันสูงเกิน 300 ppm (300 ส่วน ใน ล้านส่วน) เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 6 แสนปีซึ่ง คาร์บอนไดออกไซด์ ที่มากขึ้นนี้ ได้เพิ่มการกักเก็บความร้อนไว้ในโลกของเรามากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดเป็น ภาวะโลกร้อน ดังเช่นปัจจุบัน
ภาวะโลกร้อนภายในช่วง 10 ปีนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 มานี้ ได้มีการบันทึกถึงปีที่มีอากาศร้อนที่สุดถึง 3 ปีคือ ปี พ.ศ. 2533, พ.ศ.2538 และปี พ.ศ. 2540 แม้ว่าพยากรณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังมีความไม่แน่นอนหลายประการ แต่การถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ได้เปลี่ยนหัวข้อจากคำถามที่ว่า "โลกกำลังร้อนขึ้นจริงหรือ" เป็น "ผลกระทบจากการที่โลกร้อนขึ้นจะส่งผลร้ายแรง และต่อเนื่องต่อสิ่งที่มีชีวิตในโลกอย่างไร" ดังนั้น ยิ่งเราประวิงเวลาลงมือกระทำการแก้ไขออกไปเพียงใด ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็จะยิ่งร้ายแรงมากขึ้นเท่านั้น
สรรพสิ่งในโลกนี้ได้รับอิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงฤดูกาล    และภูมิอากาศของโลกอยู่
ตลอดเวลา ซึ่งกำหนดความเป็นไปของสังคมโลกในภาคส่วนต่างๆ ฤดูกาลในแต่ละปีเกิดขึ้นจากการหมุนรอบตัวเองของโลกรอบๆแกนโลกและการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ (ในลักษณะเป็นวงรี) โดยมีการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติบอกการแบ่งฤดูกาลเป็นฤดูร้อน ฤดูหนาว หรือ ฤดูฝน ภูมิอากาศ เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ซับซ้อน เป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างพลังงานที่ได้รับจากดวงอาทิตย์ ลักษณะชั้นบรรยากาศ พื้นผิวดิน หิมะและน้ำแข็ง ท้องน้ำต่างๆรวมถึงมหาสมุทร และสรรพสิ่งที่มีชีวิต ซึ่งสามารถอธิบายได้ในลักษณะของการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน และแรงลม ในภูมิภาคต่างๆของโลกตามช่วงเวลาเป็นเดือนถึงเป็นล้านปี ปกติจะใช้อธิบายการเปลี่ยนแปลงในช่วง ๓๐ ปี หรืออีกนัยหนึ่ง ภูมิอากาศเป็นการสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ โดยเฉลี่ยของช่วงเวลาหนึ่ง ดังประมวลได้จากองค์ประกอบต่างๆ  ปรากฏการณ์เรือนกระจกเกิดจากการที่พื้นผิวของโลกพยายามรักษาสมดุลของพลังงานจากแสงอาทิตย์ กล่าวคือ แสงอาทิตย์ที่มีคลื่นความถี่สูงตกกระทบกับผิวโลก (บางส่วนสะท้อนกลับสู่อวกาศ) ผิวโลกดูดซับพลังงานเหล่านั้นไว้พร้อมปรับสมดุลย โดยการปล่อยพลังงานความร้อน (มีความถี่ต่ำ ) ออกสู่บรรยากาศ แต่ในบรรยากาศมีก้อนเมฆ (ไอน้ำ ) ก๊าซเรือนกระจก สะท้อนพลังงานความร้อนเหล่านั้นกลับคืนสู่โลก ทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นในระดับที่เหมาะสม ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเป็นปกติตามสภาวะของระบบนิเวศน์ของโลกแสดงความสัมพันธ์กัน
สภาวะโลกร้อนที่เป็นวิกฤติในปัจจุบันเกิดขึ้น เพราะกิจกรรมมนุษย์ทำ ให้มีการ
ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเธน และก๊าซไนตรัสออกไซด์ ในปริมาณสูงมากทำให้อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้นในอัตราที่รวดเร็ว (.๗๔ องศาเซลเซียสในหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา) และมีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในอัตราที่เร็วขึ้นอีก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์ของโลกในอัตราเร็วขึ้น ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับสรรพสิ่งในโลก รวมถึงการคงอยู่ของมนุษย์สภาวะโลกร้อนขึ้นในอัตราเร็ว ทำให้ระดับไอน้ำที่ระเหยขึ้นสู่บรรยากาศในบริเวณท้องมหาสมุทรทั่วโลกมีมากขึ้น การปฏิสัมพันธ์ระหว่างการไหลเวียนไอน้ำในบรรยากาศและกระแสน้ำไหลเวียนในมหาสมุทร และคลื่นของแรงกดอากาศในมหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแอตแลติก (เช่นปรากฏการณ์เอลนิโน) ทำให้เกิดพายุฝนได้โดยง่ายและที่ความถี่มากขึ้น นั่นคือ ภูมิอากาศของโลกได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องและมีความรุนแรงตามเหตุและปัจจัยของการมีรายงานจากองค์การระหว่างประเทศว่า ได้ปรากฏเป็นความจริงในเชิงวิทยาศาสตร์ว่าพายุฝนที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและมีความรุนแรงมากขึ้นในมหาสมุทรแอตแลนติก เกิดจากการปะทะกันของกระแสน้ำเย็นและกระแสน้ำที่อุ่นกว่า ๑ องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นผลจากการละลายของภูเขาน้ำแข็งและธารน้ำแข็งในบริเวณขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ผลจากสภาวะโลกร้อนทำให้เกิดการละลายของภูเขาน้ำแข็งและธารน้ำแข็งของขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ และทำให้มวลน้ำทะเลขยายตัวมากขึ้นเพราะมีอุณหภูมิสูงขึ้น ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น และกระแสน้ำทะเลเปลี่ยนทิศทาง จากการวิเคราะห์และตรวจวัดของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ปรากฏว่าระดับน้ำทะเลปานกลางทั่วโลกสูงขึ้นในอัตราปีละประมาณ ๑.๗ มิลลิเมตร จากการศึกษาและรวบรวมข้อมูลของระดับน้ำทะเลปานกลางทั่วโลกพบว่าระดับน้ำทะเลปานกลางสูงขึ้นในบริเวณ ละติจูด ที่ ๔๐ องศา ถึง ๖๐ องศา เหนือและใต้ขึ้นไป แต่ในประเทศไทยยังไม่มีผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมจากปรากฏการณ์ดังกล่าว
          ในส่วนของประเทศไทยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในประเทศไทยเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าทำให้การเกิดพายุฝนผิดฤดูกาลมากขึ้น และมีปริมาณฝนตกมากขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดน้ำท่วมในรอบสิบปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีพื้นที่รับน้ำอยู่ประมาณ ๕๑๒,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร มีน้ำฝนปีละประมาณ ๘ แสนล้านลูกบาศก์เมตร เป็นน้ำใช้ประมาณปีละ ๖ แสนลูกบาศก์เมตร และเป็นน้ำส่วนเกินที่ไหลลงสู่ทะเลและก่ออุทกภัยปีละประมาณ ๒ แสนลูกบาศก์เมตร ซึ่งจำเป็นต้องใช้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่เหมาะสม เพื่อป้องกันน้ำท่วมและภัยแล้งไปพร้อมกันการเกิดน้ำท่วมโดยรวมของประเทศไทยเกิดขึ้นส่วนหนึ่ง คือ การบริหารจัดการ
ทรัพยากรน้ำในลุ่มแม่น้ำหลัก ๒๕ ลุ่มน้ำอย่างไม่เหมาะสมและขาดการสนับสนุนจากรัฐบาลและ
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่เหมาะสมและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลการวัดระดับน้ำทะเลปานกลางในระยะเวลานานกว่า ๖๗ ปี ที่เกาะหลัก อ่าวสัต
หีบ และเกาะตะเภาน้อย แสดงแนวโน้มเชิงเส้นของค่าระดับน้ำทะเลปานกลางเฉลี่ยรายปีว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลปานกลางที่สูงขึ้นทั้งในอ่าวไทยและทะเลอันดามันตามหลักอ้างอิงของระดับน้ำทะเลปานกลางของไทยที่กำหนดไว้ที่ เกาะหลัก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งประเมินไว้กว่า ๖๗ ปีแล้ว มีการเคลื่อนตัวอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของพื้นพิภพ เช่น การกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งทะเลและการเกิดการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลบริเวณชายฝั่งของไทยและแผ่นดินทรุดจากการใช้น้ำบาดาล จังหวัดเพชรบุรีไม่มีน้ำบาลดาลใช้เพราะคุณภาพต่ำก็อาจเป็นโชคดีที่แผ่นดินเพชรบุรีจะทรุดน้อยลง

                                                                  อาคเณย์  กายสอน

                                                                       ที่นี่เพชรบุรี
                                                                ๑๖   ธันวาคม   ๒๕๕๑