วันเสาร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2553

ความรู้เรื่องพิษแมงดาทะเล

ความรู้เรื่องพิษแมงดาทะเล

เมื่อกล่าวถึงแมงดาความหมายในความคิดคือสัตว์ที่ตัวผู้ที่เกาะหลังตัวเมียหากินอยู่ในทะเล เป็นตัวแทนของผู้ชายในสังคมปัจจุบันที่ไม่ทำมาหากิน อาศัยผู้หญิงที่ประกอบอาชีพที่ไม่เหมาะสมเพื่อกดขี่หารายได้ในการเลี้ยงชีวิตไปวันๆ ด้วยเหตุที่มีการพบเห็นและเปรียบเทียบกับแมงดาทะเลที่มองเห็น ในความจริงแล้วการที่แมงดาทะเลเกาะหลังกันเป็นวงจรชีวิตของสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่มีชีวิตมานามมากกว่า 470 ล้านปีโดยที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างน้อยมาก จากพบซากดึกดำบรรพ์ ของสัตว์ทะเลพบว่า แมงดาทะเลมีวิวัฒนาการน้อยมาก และสามารถอยู่รอดในทุกสภาพการเปลี่ยนแปลงทุกระบบนิเวศ
               แมงดาทะเลเป็นสัตว์ทะเลโบราณที่ยังคงเหลืออยู่ในโลกปัจจุบันเพียง 4 ชนิด ที่ พบในทะเลไทยมีอยู่ 2 ชนิด คือแมงดาจานหรือแมงดาหางเหลี่ยม  และ แมงดาถ้วยหรือแมงดาหางกลม  ทั้งสองชนิดมีความเป็นอยู่ในสภาพแวดล้อมต่างกัน แมงดาจานอาศัยอยู่ตามพื้นทะเล วางไข่ตามริมชายฝั่งที่เป็นดินทราย ส่วนแมงดาถ้วยอาศัยอยู่ตามพื้นทะเลที่เป็นดินโคลนและตามลำคลองในป่าชายเลนเท่า ที่มีรายงานในประเทศไทย เฉพาะแมงดาหางกลมเท่านั้นที่อาจเป็นพิษ และมักเรียกชื่อแมงดาที่เป็นพิษว่าแมงดาไฟ หรือ เหรา จนบางครั้งทำให้เข้าใจสับสนว่า เหรา เป็นแมงดาชนิดที่สาม จากคำบอกเล่ามักอธิบายถึงลักษณะของเหราว่าตามลำตัวมีขนยาวที่นักอนุกรมวิธาน ได้ศึกษาแน่ชัดแล้วว่า แมงดาไฟ หรือ เหรา ก็คือแมงดาหางกลมบางตัวนั่นเอง การเป็นพิษนั้นจะเกิดเฉพาะช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - กันยายน เหตุที่แมงดาถ้วยมีพิษเป็นบางช่วงนี้ สันนิษฐานว่าเวลาดังกล่าวอาจมีการเจริญแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วของแพลงก์ตอน บางชนิด เช่น ไดโนแฟลกเจลเลต ที่สร้างสารพิษ แล้วแพลงค์ตอนชนิดดังกล่าวถูกกินโดยหอยหรือหนอนซึ่งเป็นสัตว์หน้าดิน เมื่อพิษเข้ามาสะสมในหอยหรือหนอนแล้วถูกกินโดยแมงดาทะเล พิษจึงมาสะสมอยู่ในเนื้อและไข่ของแมงดาถ้วย เมื่อคนบริโภคแมงดาถ้วยตัวที่มีสารพิษสะสมอยู่ จึงทำให้เกิดอาการพิษได้ แม้ว่าจะได้ปรุงไข่หรือเนื้อที่บริโภคให้สุดแล้วก็ตาม
               อาการเป็นพิษมักเกิดขึ้นภายหลังรับประทานแมงดาทะเลประมาณ 10-45 นาที หรืออาจช้าไปจนถึง 3 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับชนิดและแหล่งที่อยู่ของแมงดาทะเล ฤดูกาล จำนวนที่รับประทาน หรือปริมาณของสารพิษที่ได้รับ เช่นรับประทาน ไข่แมงดา อาการพิษจะเกิดรุนแรงกว่ารับประทานเฉพาะเนื้อ อาการมักเริ่มจากมึนงง รู้สึกชา บริเวณลิ้น ปาก ปลายมือ ปลายเท้าและมีกล้ามเนื้ออ่อนแรง เริ่มจาก มือ แขน ขา ตามลำดับ รวมทั้งอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย บางรายอาจมีน้ำลายฟูมปาก เหงื่อออกมาก พูดลำบาก ตามองเห็นภาพไม่ชัด ในรายที่มีอาการรุนแรงมาก จะมีผลทำให้กล้าม เนื้อหายใจอ่อนแรง ผู้ป่วยอาจตายภายใน 6-24 ชั่วโมง จากการหยุดหายใจ  อาการพิษจากแมงดาทะเลนั้นยังไม่มี ปริมาณของพิษเฉพาะ จึงต้องให้การรักษา โดยเอาสิ่งที่เป็นพิษออกจากร่างกายให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการทำการรักษาแบบใด ควรเฝ้าระวังดูแลเกี่ยวกับการหายใจ ถ้าหยุดหายใจ อาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ สาเหตุของการเกิด
          
               การระบาดในครั้งนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด ข้อมูลการทดสอบความเป็นพิษเบื้องต้น พบว่า แมงดาถ้วยที่พบในประเทศไทย บางตัวมีพิษ บางตัวไม่มีพิษ โดยทั่วไปพบว่ามีพิษประมาณ 30 % แต่ไม่สามารถแยกตัวที่มีพิษกับตัวที่ไม่มีพิษจากลักษณะภายนอกได้ จากการสอบถามผู้ป่วย ส่วนใหญ่รับประทานแมงดาถ้วย สาเหตุที่รับประทานแมงดาถ้วย  ประการแรก เพราะความเชื่อผิดๆ ของ ชาวบ้านว่า ตัวเห-รามีพิษ แต่แมงดาถ้วยไม่มีพิษ ตัวเห-ราสามารถแยกจากแมงดาถ้วย คือ ตัวมีขนและ ตาแดง ประการที่สอง ปัจจุบันมีชาวประมงจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้น ซึ่งอาจจะไม่มีความรู้ในการแยกประเภท แมงดาประการที่สาม ในปีนี้พบแมงดาถ้วยเพิ่มขึ้นและแมงดาจานลดลงอย่างมาก   เป็นอัตราส่วน แมงดาจานต่อแมงดาถ้วย 1 : 100 ซึ่งสาเหตุดังกล่าวยังไม่ทราบแน่ชัด

        
อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยบางรายยืนยันว่าเป็นพิษจากแมงดาจาน ซึ่งไม่เคยเป็นพิษมาก่อน  นอกจากนี้ข้อมูล การระบาด พบการเป็นพิษของแมงดาทะเล ก่อนหน้านี้ปีละ 0-1 ราย แต่ในการระบาดครั้งนี้มีผู้ป่วย เป็นร้อยราย และรายงานผู้ป่วยเป็นกลุ่มบริเวณจังหวัดสมุทรปราการถึงชลบุรี ซึ่งถ้าเป็นจากแมงดาจาน มีพิษจริง อาจจะเกิดจาก การผสมข้ามพันธุ์ หรือจากการสร้างสารพิษขึ้นใหม่เนื่องจากสภาวะสิ่งแวดล้อม  หรือเกิดปรากฏการณ์น้ำแดง  ข้อสรุปดังกล่าวยังต้องศึกษาต่อไป  สำหรับปรากฏการณ์น้ำแดง หรือน้ำทะเลเปลี่ยนสี เป็นปรากฏการณ์ที่สีของน้ำทะเลเปลี่ยนไป เป็นสีเขียว สีน้ำตาลแดง หรือสีแดง สาเหตุที่น้ำทะเลเปลี่ยนสีเนื่องจากมีการเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์  ของแพลงตอนหรือสาหร่ายเซลล์เดียว  จำพวก ไดโนเจลเฟลเล็ต จำนวนมาก โดยทั่วไป ถ้าสภาวะอาหารน้อยสาหร่ายเซลล์เดียวจะแพร่พันธุ์ทำให้เกิด  ตกตะกอนอยู่บนพื้นทะเลแต่ในบางเวลาที่สภาวะสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม   สาหร่ายเซลล์เดียวเหล่านี้จะขยายพันธุ์แบบ ไม่ใช้เพศ คือการแบ่งตัวที่ทำให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยปกติสาหร่ายเซลล์เดียว มี 2-3 ตัวใน น้ำ 1 ลิตร ในภาวะ เข้มข้นอาจแบ่งตัวมากถึง 20 ล้านตัว ในน้ำ 1 ลิตร   ผลกระทบของน้ำเปลี่ยนสี คือทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำตายด้วยสาเหตุต่างๆ เช่น อุดตันที่เหงือก ปริมาณ ออกซิเจน ในน้ำน้อยลง และตายจากสารพิษเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคสัตว์น้ำ เช่น หอย 2 ฝา ที่สะสมสารพิษที่สร้าง จากสาหร่าย เซลล์เดียวไว้ในตัวผู้ที่บริโภค หอยที่ปนเปื้อนสารพิษก็ จะเกิดพิษขึ้น
                ในต่างประเทศ มีรายงานการตายของสัตว์เศรษฐกิจชนิดต่างๆ หรือการตายของสัตว์อนุรักษ์ เช่น ปลาวาฬ ซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจจำนวนไม่น้อยปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี  กำลังจะเป็นปัญหาสำคัญของ โลกปัญหาหนึ่ง ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ  ปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีพบบ่อยขึ้นหลายเท่าในบริเวณที่เคยพบภาวะน้ำแดง สาเหตุที่พบน้ำทะเลเปลี่ยนสีบ่อยขึ้น เข้าใจว่าเกิดจากมลภาวะตามชายฝั่งทะเล โดยเฉพาะตามเมือง ใหญ่ๆ จากการศึกษายืนยันว่าถ้าอัตราส่วนของ ไนโตรเจน หรือ ฟอสฟอรัส ซึ่งเป็นของเสียที่ปล่อยลงในทะเลต่อ ซิลิก้า สูงขึ้น จะทำให้สาหร่ายเซลล์เดียวชนิดเป็นพิษแน่นหนามาก ขึ้น 
และ ได้มี ปรากฏการณ์ดังกล่าว เกิดในบริเวณที่ไม่เคยเกิดทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย สาเหตุที่สำคัญเนื่องจากปัจจุบันมีการเดินเรือติดต่อกันทั่วโลก เรือเหล่านี้สามารถนำเซลมีชีวิต ของสาหร่ายเซลล์เดียว  จากที่หนึ่งแพร่ ไปอีกที่หนึ่งได้โดยง่าย       ในประเทศไทยได้มีการศึกษาภาวะน้ำแดงในอ่าวไทย พบว่ามักจะเกิดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึง พฤษภาคม 
       พิษของแมงดาทะเลมีอันตรายมากถึงชีวิตได้ ถ้ารับประทานโดยไม่มีข้อมูลที่ถูกต้อง การศึกษากับความเชื่อของชุมชนยังแตกต่างกันอยู่ แต่อย่างไรก็ตามแมงดาทะเลที่ต้องอาศัยชายฝั่งเป็นที่วางไข่และขยายพันธุ์ ถูกมนุษย์สัตว์ที่มีวิวัฒนาการเพียง 1 ล้านปี ขยายกิจการเพื่อการท่องเที่ยว เพาะเลี้ยง และทำกิจกรรมอื่นๆ จนไม่สามารถให้พวกมันขยายพันธุ์ได้ ตำนานสัตว์ดึกดำบรรพ์ 470  ล้านปีคงจบสิ้นไปในยุคนี้แล

                                                                  อาคเณย์  กายสอน
                                              

วันศุกร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2553

ภาวะโลกร้อนกับข้อมูลที่น่าสนใจ



         ภาวะโลกร้อน หรือ ภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เป็นปัญหาใหญ่ของโลกเราในปัจจุบัน สังเกตได้จาก อุณหภูมิ ของโลกที่สูงขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุหลักของปัญหานี้ มาจาก ก๊าซเรือนกระจก ค่ะ ปรากฏการณ์เรือนกระจก มีความสำคัญกับโลก เพราะก๊าซจำพวก คาร์บอนไดออกไซด์ หรือ มีเทน จะกักเก็บความร้อนบางส่วนไว้ในในโลก ไม่ให้สะท้อนกลับสู่บรรยากาศทั้งหมด มิฉะนั้น โลกจะกลายเป็นแบบดวงจันทร์ ที่ตอนกลางคืนหนาวจัด (และ ตอนกลางวันร้อนจัด เพราะไม่มีบรรยากาศ กรองพลังงาน จาก ดวงอาทิตย์) ซึ่งการทำให้โลกอุ่นขึ้นเช่นนี้ คล้ายกับหลักการของ เรือนกระจก (ที่ใช้ปลูกพืช) จึงเรียกว่า ปรากฏการณ์เรือนกระจก แต่การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของ CO2 ที่ออกมาจาก โรงงานอุตสาหกรรม รถยนต์ หรือการกระทำใดๆที่เผา เชื้อเพลิงฟอสซิล (เช่น ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หรือ สารประกอบไฮโดรคาร์บอน ) ส่งผลให้ระดับปริมาณ CO2 ในปัจจุบันสูงเกิน 300 ppm (300 ส่วน ใน ล้านส่วน) เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 6 แสนปีซึ่ง คาร์บอนไดออกไซด์ ที่มากขึ้นนี้ ได้เพิ่มการกักเก็บความร้อนไว้ในโลกของเรามากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดเป็น ภาวะโลกร้อน ดังเช่นปัจจุบัน
ภาวะโลกร้อนภายในช่วง 10 ปีนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 มานี้ ได้มีการบันทึกถึงปีที่มีอากาศร้อนที่สุดถึง 3 ปีคือ ปี พ.ศ. 2533, พ.ศ.2538 และปี พ.ศ. 2540 แม้ว่าพยากรณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังมีความไม่แน่นอนหลายประการ แต่การถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ได้เปลี่ยนหัวข้อจากคำถามที่ว่า "โลกกำลังร้อนขึ้นจริงหรือ" เป็น "ผลกระทบจากการที่โลกร้อนขึ้นจะส่งผลร้ายแรง และต่อเนื่องต่อสิ่งที่มีชีวิตในโลกอย่างไร" ดังนั้น ยิ่งเราประวิงเวลาลงมือกระทำการแก้ไขออกไปเพียงใด ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็จะยิ่งร้ายแรงมากขึ้นเท่านั้น
สรรพสิ่งในโลกนี้ได้รับอิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงฤดูกาล    และภูมิอากาศของโลกอยู่
ตลอดเวลา ซึ่งกำหนดความเป็นไปของสังคมโลกในภาคส่วนต่างๆ ฤดูกาลในแต่ละปีเกิดขึ้นจากการหมุนรอบตัวเองของโลกรอบๆแกนโลกและการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ (ในลักษณะเป็นวงรี) โดยมีการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติบอกการแบ่งฤดูกาลเป็นฤดูร้อน ฤดูหนาว หรือ ฤดูฝน ภูมิอากาศ เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ซับซ้อน เป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างพลังงานที่ได้รับจากดวงอาทิตย์ ลักษณะชั้นบรรยากาศ พื้นผิวดิน หิมะและน้ำแข็ง ท้องน้ำต่างๆรวมถึงมหาสมุทร และสรรพสิ่งที่มีชีวิต ซึ่งสามารถอธิบายได้ในลักษณะของการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน และแรงลม ในภูมิภาคต่างๆของโลกตามช่วงเวลาเป็นเดือนถึงเป็นล้านปี ปกติจะใช้อธิบายการเปลี่ยนแปลงในช่วง ๓๐ ปี หรืออีกนัยหนึ่ง ภูมิอากาศเป็นการสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ โดยเฉลี่ยของช่วงเวลาหนึ่ง ดังประมวลได้จากองค์ประกอบต่างๆ  ปรากฏการณ์เรือนกระจกเกิดจากการที่พื้นผิวของโลกพยายามรักษาสมดุลของพลังงานจากแสงอาทิตย์ กล่าวคือ แสงอาทิตย์ที่มีคลื่นความถี่สูงตกกระทบกับผิวโลก (บางส่วนสะท้อนกลับสู่อวกาศ) ผิวโลกดูดซับพลังงานเหล่านั้นไว้พร้อมปรับสมดุลย โดยการปล่อยพลังงานความร้อน (มีความถี่ต่ำ ) ออกสู่บรรยากาศ แต่ในบรรยากาศมีก้อนเมฆ (ไอน้ำ ) ก๊าซเรือนกระจก สะท้อนพลังงานความร้อนเหล่านั้นกลับคืนสู่โลก ทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นในระดับที่เหมาะสม ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเป็นปกติตามสภาวะของระบบนิเวศน์ของโลกแสดงความสัมพันธ์กัน
สภาวะโลกร้อนที่เป็นวิกฤติในปัจจุบันเกิดขึ้น เพราะกิจกรรมมนุษย์ทำ ให้มีการ
ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเธน และก๊าซไนตรัสออกไซด์ ในปริมาณสูงมากทำให้อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้นในอัตราที่รวดเร็ว (.๗๔ องศาเซลเซียสในหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา) และมีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในอัตราที่เร็วขึ้นอีก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์ของโลกในอัตราเร็วขึ้น ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับสรรพสิ่งในโลก รวมถึงการคงอยู่ของมนุษย์สภาวะโลกร้อนขึ้นในอัตราเร็ว ทำให้ระดับไอน้ำที่ระเหยขึ้นสู่บรรยากาศในบริเวณท้องมหาสมุทรทั่วโลกมีมากขึ้น การปฏิสัมพันธ์ระหว่างการไหลเวียนไอน้ำในบรรยากาศและกระแสน้ำไหลเวียนในมหาสมุทร และคลื่นของแรงกดอากาศในมหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแอตแลติก (เช่นปรากฏการณ์เอลนิโน) ทำให้เกิดพายุฝนได้โดยง่ายและที่ความถี่มากขึ้น นั่นคือ ภูมิอากาศของโลกได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องและมีความรุนแรงตามเหตุและปัจจัยของการมีรายงานจากองค์การระหว่างประเทศว่า ได้ปรากฏเป็นความจริงในเชิงวิทยาศาสตร์ว่าพายุฝนที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและมีความรุนแรงมากขึ้นในมหาสมุทรแอตแลนติก เกิดจากการปะทะกันของกระแสน้ำเย็นและกระแสน้ำที่อุ่นกว่า ๑ องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นผลจากการละลายของภูเขาน้ำแข็งและธารน้ำแข็งในบริเวณขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ผลจากสภาวะโลกร้อนทำให้เกิดการละลายของภูเขาน้ำแข็งและธารน้ำแข็งของขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ และทำให้มวลน้ำทะเลขยายตัวมากขึ้นเพราะมีอุณหภูมิสูงขึ้น ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น และกระแสน้ำทะเลเปลี่ยนทิศทาง จากการวิเคราะห์และตรวจวัดของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ปรากฏว่าระดับน้ำทะเลปานกลางทั่วโลกสูงขึ้นในอัตราปีละประมาณ ๑.๗ มิลลิเมตร จากการศึกษาและรวบรวมข้อมูลของระดับน้ำทะเลปานกลางทั่วโลกพบว่าระดับน้ำทะเลปานกลางสูงขึ้นในบริเวณ ละติจูด ที่ ๔๐ องศา ถึง ๖๐ องศา เหนือและใต้ขึ้นไป แต่ในประเทศไทยยังไม่มีผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมจากปรากฏการณ์ดังกล่าว
          ในส่วนของประเทศไทยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในประเทศไทยเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าทำให้การเกิดพายุฝนผิดฤดูกาลมากขึ้น และมีปริมาณฝนตกมากขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดน้ำท่วมในรอบสิบปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีพื้นที่รับน้ำอยู่ประมาณ ๕๑๒,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร มีน้ำฝนปีละประมาณ ๘ แสนล้านลูกบาศก์เมตร เป็นน้ำใช้ประมาณปีละ ๖ แสนลูกบาศก์เมตร และเป็นน้ำส่วนเกินที่ไหลลงสู่ทะเลและก่ออุทกภัยปีละประมาณ ๒ แสนลูกบาศก์เมตร ซึ่งจำเป็นต้องใช้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่เหมาะสม เพื่อป้องกันน้ำท่วมและภัยแล้งไปพร้อมกันการเกิดน้ำท่วมโดยรวมของประเทศไทยเกิดขึ้นส่วนหนึ่ง คือ การบริหารจัดการ
ทรัพยากรน้ำในลุ่มแม่น้ำหลัก ๒๕ ลุ่มน้ำอย่างไม่เหมาะสมและขาดการสนับสนุนจากรัฐบาลและ
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่เหมาะสมและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลการวัดระดับน้ำทะเลปานกลางในระยะเวลานานกว่า ๖๗ ปี ที่เกาะหลัก อ่าวสัต
หีบ และเกาะตะเภาน้อย แสดงแนวโน้มเชิงเส้นของค่าระดับน้ำทะเลปานกลางเฉลี่ยรายปีว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลปานกลางที่สูงขึ้นทั้งในอ่าวไทยและทะเลอันดามันตามหลักอ้างอิงของระดับน้ำทะเลปานกลางของไทยที่กำหนดไว้ที่ เกาะหลัก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งประเมินไว้กว่า ๖๗ ปีแล้ว มีการเคลื่อนตัวอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของพื้นพิภพ เช่น การกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งทะเลและการเกิดการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลบริเวณชายฝั่งของไทยและแผ่นดินทรุดจากการใช้น้ำบาดาล จังหวัดเพชรบุรีไม่มีน้ำบาลดาลใช้เพราะคุณภาพต่ำก็อาจเป็นโชคดีที่แผ่นดินเพชรบุรีจะทรุดน้อยลง

                                                                  อาคเณย์  กายสอน

                                                                       ที่นี่เพชรบุรี
                                                                ๑๖   ธันวาคม   ๒๕๕๑ 

น้ำมันบนดิน


                จังหวัดเพชรบุรีมีโครงการที่ต้องการทำขยะให้เป็นศูนย์  โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีเป็นประธานในการจัดทำโครงการ  โดยมีท้องถิ่นจังหวัดเพชรบุรีเป็นเจ้าของโครงการ ความหมายสำคัญของโครงการคือต้องการให้การจัดการขยะในจังหวัดเพชรบุรี สามารถจัดการโดยมีผลกระทบสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด คือจัดการขยะที่ต้นทางโดยมีการแยกขยะที่จะจัดการให้ได้ตามประเภทของการจัดการ   ชุมชนและครัวเรือนต้องมีการแยกให้กับท้องถิ่นผู้รับผิดชอบในการเก็บขยะและจัดการในลำดับต่อไป   กระบวนการจัดการขยะในจังหวัดเพชรบุรีขณะนี้หน่วยงานที่สามารถทำได้เป็นรูปธรรมมากที่คือ องค์การบริหารส่วนตำบลไร่ส้มร่วมกับวิทยาลัยสารพัดช่างเพชรบุรีและชมรมนักพัฒนาอุตสาหกรรมไทย
            ขยะที่มีปัญหาในการจัดเก็บมากที่สุดคือขยะย่อยสลายขยะที่มาจากธรรมชาติหรือสิ่งมีชีวิตที่ย่อยสลายและเน่าเสียง่ายและส่งกลิ่นเหม็น เช่น เศษซากพืช เศษอาหาร ซากสัตว์ ผักผลไม้เศษซากพืช ข้าวขนมเปลือกผลไม้ ผลไม้เน่า ผักใบตองสดแห้ง ใบตองห่อขนมนึ่งหรือปิ้งเศษอาหาร แกงต้มผัก ใบไม้ใบหญ้า กระดาษที่เปียกชุ่มเลอะเทอะ (ไม่รวมกิ่งไม้) เศษซากสัตว์ นม เนย เนื้อสัตว์ เปลือกไข่ไข่ เปลือกกุ้ง กระดองปู ก้างปู ก้างปลา กระดูกสัตว์ แต่ในทางกลับกันในการกำจัดสามารถเปลี่ยนรูปของที่เน่าเหม็นเหล่านี้ให้กลายเป็นปุ๋ยคุณภาพดีเป็นที่ต้องการในการเพาะปลูกในเวลาเพียงวันเดียวโดยการบดให้ละเอียดและหลักเป็นปุ๋ยน้ำและปุ๋ยแห้งเพื่อเพิ่มผลผลิตให้กับภาคการเกษตร ลดการให้ปุ๋ยเคมี รักษาดินให้อุดมสมบูรณ์และยั่งยืนต่อไป
            พลาสติกเป็นขยะที่การจัดเก็บไม่ยากมากนัก แต่การจัดการมีปัญหาเพราะการย่อยสลายไทยต้องเผชิญกับปัญหาการจัดการขยะพลาสติกภายใน ประเทศถึงปีละ 2.7 ล้านตัน แต่สามารถรีไซเคิลไปใช้ใหม่ได้เพียงปีละ 0.7 ล้านตัน ที่เหลือเป็นการทำลายด้วยการฝั่งกลบ หรือเผาทิ้งถึงปีละ 2.5ล้านตัน ซึ่งทำให้เกิดมลภาวะกับโลก การเผาถือเป็นการทำลายชั้นบรรยากาศ ขณะที่การฝังกลบต้องใช้เวลากว่า 100 ปี กว่าพลาสติกเหล่านี้จะย่อยสลายและในจำนวนพลาสติกที่ทิ้งไปกว่าปีละ 2.5 ล้านตันนั้น พบว่ามีพลาสติกอยู่ 4 ชนิด ที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลเป็นน้ำมันได้ ประกอบด้วย HDPE ปริมาณ 1.0 ตัน LDPE ปริมาณ 0.7 ล้านตัน PP ปริมาณ 0.4 ล้านตัน และอื่นๆ อีก 0.4 ล้านตัน การผลิตน้ำมันจากพลาสติกโดยเตาผลิตน้ำมันจากขยะพลาสติกนั้น เกิดจากการทำพลาสติกให้ได้รับความร้อนประมาณ 420 องศาจากนั้นพลาสติกก็จะหลอมละลายเป็นของเหลว และเปลี่ยนสภาพเป็นแก๊ส เมื่อแก๊สถูกทำให้เย็นก็จะมี wax เกิดขึ้นจึงต้องมีการดัก wax ก่อน พร้อมกับปรับสภาพของแก๊สจากนั้นจะถูกส่งไปควบแน่นด้วยระบบหล่อเย็นจนเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนแก๊สที่ไม่ถูกกลั่นตัวก็จะถูกนำไปให้ความร้อนแก่ หัวเผาแก๊สเพื่อให้ความร้อนกับตัวเอง สำหรับน้ำมันที่ได้จากการกลั่นนั้น สามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงของเครื่องให้ความร้อนได้โดยตรงหรือนำไปเป็นน้ำมันพื้นฐานเข้าสู่กระบวนการกลั่นโดยโรงกลั่น เช่น ปตท. และบางจาก หรืออาจจะเข้าสู่โรงกลั่นที่ออกแบบเฉพาะสำหรับน้ำมัน ส่วนนี้ ส่วนการที่จะนำไปใช้กับเครื่องยนต์นั้นควรต้องมีการ ปรับสภาพของน้ำมันหรือผสมก่อนจึงจะสามารถนำไปใช้ได้ โดยกระบวนการดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งทางน้ำ อากาศ หรือกลิ่นรบกวนอันมีผลต่อสุขภาพอนามัยของผู้ปฏิบัติงาน และยังเป็นการช่วยลดภาวะโลกร้อนอีกทางหนึ่งด้วยการพัฒนาพลังงานทดแทนซากขยะพลาสติก โดยการแปรรูปเป็นน้ำมันนั้น นับว่าเป็นการสร้างมูลค่าอย่างสูง จากการให้บริการกำจัด และบำบัดขยะพลาสติกประเภทต่างๆ อีกทั้งยังสามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืนเนื่องจากมีปริมาณขยะนับล้านล้านตัน ที่ฝังกลบอยู่ เป็นแหล่งวัตถุดิบ ที่มั่นคงระยะยาว รวมกับปริมาณขยะชุมชนของประเทศไทยวันละ ประมาณ 43,000 ตัน โดยจะมีขยะพลาสติกเป็นองค์ประกอบอยู่ประมาณ4,300-6,450 ตันต่อวัน จึงเป็นแหล่งวัตถุดิบที่เพิ่มเติมได้อย่างไม่มีวันหมด และเครื่องจักรดังกล่าว สามารถติดตั้งและดำเนินการได้ในทุกท้องถิ่น
             สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระบวนการผลิต  น้ำมันดิบที่ได้แยกเป็นดีเซล 50% น้ำมันเตา 30% และเบนซิน 20% ขึ้นอยู่กับชนิดและคุณภาพของขยะพลาสติก นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานขอให้บริษัท Thai Oil, ปตท., บางจาก และ IRPC มาร่วมมือกับซื้อผลิตภัณฑ์ไปแปรรูปทดแทนการนำเข้าน้ำมันดิบได้ และจะมีการศึกษาวิจัยต่อยอด       อย่างไรก็ตาม ปตท.ได้เก็บตัวอย่างน้ำมันดิบที่ผลิตจากขยะพลาสติกมาทดสอบแล้ว พบว่ามีมาตรฐานดีกว่าน้ำมันดิบเกรดดูไบ และมีค่าซัลเฟอร์ต่ำกว่าค่ามาตรฐานเป็นประโยชน์กับสิ่งแวดล้อม สามารถกลั่นเป็นน้ำมันเบนซินและดีเซลได้ จะขายน้ำมันดิบให้โรงกลั่นในราคาลิตรละ 18 บาท และที่น่าสนใจคือ น้ำมันดิบจากเทคโนโลยีนี้สามารถใช้เป็นพลังงานเชื้อเพลิงของเครื่องยนต์ดีเซลรอบต่ำได้เลย
        “ขยะพลาสติกที่ใช้ได้ มีถุงก็อบแก๊บ ขวดขุ่น ๆ ถุงปุ๋ย กล่องน้ำผลไม้ที่มีพลาสติก PE ผสม 30% สามารถผลิตน้ำมันได้ สำหรับขวดพลาสติกใสก็ทำได้แต่ถ้านำไปรีไซเคิลจะได้ประโยชน์มากกว่า ในไทยมีขยะพลาสติกที่ไม่สามารถจำกัดได้เกือบ 3 ล้านตันต่อปี”   ถ้าหากขุดมาพบว่านำดินมาทำปุ๋ยพลาสติกใช้แปรรูปเป็นน้ำมันได้ หลุมฝังกลบขยะที่ไม่น่าสนใจเปรียบเหมือนบ่อน้ำมันที่สามารถขุดขยะขึ้นมากลั่นน้ำมันได้ นี่คือพลังงานทดแทน เป็นทางเลือกใหม่การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
            ทุกท้องถิ่นในจังหวัดเพชรบุรีถ้าหากได้รับนโยบายท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ในการจัดการขยะให้เป็นศูนย์ แยกเศษอาหารหรือของเน่าเสียออกจากขยะปกติ แยกพลาสติกนำกลับไปใช้ใหม่ กลั่นเป็นน้ำมัน ของเน่าเสียมาเป็นปุ๋ย เศษวัสดุมาเป็นสิ่งก่อสร้าง ปัญหาขยะจะหมดไป โลกก็ไม่ร้อน วิถีชีวิตก็ยั่งยืน ถ้าคิดว่าจะทำได้อย่างไร ก็ให้มาดูงานที่วิทยาลัยสารพัดช่างเพชรบุรี
                                                                                   
                                                                      อาคเณย์  กายสอน
                                                                ที่นี่เพชรบุรี   1  เมษายน   2553



ฝุ่นละออง เรื่องเล็ก ที่ไม่เล็กอย่างที่คิด

            ฝุ่นละอองสามารถก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของคน สัตว์ พืช เกิดความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือน ทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญต่อประชาชน บดบังทัศนวิสัย ทำให้เกิดอุปสรรคในการคมนาคม ขนส่ง นานาประเทศจึงได้มีการกำหนดมาตรฐานฝุ่นละออง ในบรรยากาศขึ้น สำหรับในประเทศไทย ได้มีการกำหนดค่ามาตรฐานของฝุ่นรวม) และฝุ่น Pm10 แต่เนื่องจากมีการศึกษาวิจัย ฝุ่นขนาดเล็กนั้นจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพมากกว่าฝุ่นรวม เนื่องจากสามารถผ่านเข้าไประบบทางเดินหายใจส่วนในและมีผลต่อสุขภาพมากกว่า ฝุ่นรวม ดังนั้น US. EPA จึงได้มีการยกเลิกค่ามาตรฐานฝุ่นรวม และกำหนดค่ามาตรฐานฝุ่นขนาดเล็กเป็น 2 ชนิด คือ PM10 และ PM2.5

        PM10 ตามคำจำกัดความของ US. EPA หมายถึง ฝุ่นหยาบ (Course Particle) เป็นอนุภาคที่มีเส้นผ่านศุนย์กลาง 2.5 - 10 ไมครอน มีแหล่งกำเนิดจากการจราจรบนถนนที่ไม้ได้ลาดยางตามการขนส่งวัสดุฝุ่นจาก กิจกรรมบด ย่อย หิน
        PM2.5 ตามคำจำกัดความของ US. EPA หมายถึง ฝุ่นละเอียด (Final Particles) เป็นอนุภาคที่มีเส้นผ่านศุนย์กลางเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ฝุ่นละเอียดที่มีแหล่งกำเนิดจากควันเสียของรถยนต์ โรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม ควันที่เกิดจากการหุงต้มอาหารโดยใช้ฟืน จะทำปฏิกิริยากับสารอื่นในอากาศทำให้เกิดฝุ่นละเอียดได้
        ฝุ่นละอองขนาดเล็กจะมีผลกระทบต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก เมื่อหายใจเข้าไปในปอดจะเข้าไปอยู่ในระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง ในสหรัฐอเมริกาพบว่า ผู้ที่ได้รับฝุ่น PM10 ในระดับหนึ่งจะทำให้เกิดโรค Asthma และ ฝุ่น PM2.5 ในบรรยากาศจะมีความสัมพันธ์กับอัตราการเพิ่มของผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจและ โรคปอด และเกี่ยวโยงกับการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดนเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคหืดหอบ และเด็กจะมีอัตราเสี่ยงสูงกว่าคนปกติด้วย
        ในประเทศไทยมีการให้ความหมายของคำว่าฝุ่นละอองได้ดังนี้ ฝุ่นละอองหมายถึง ฝุ่นรวมซึ่งเป็นฝุ่นขนาดใหญ่ที่มีเส้นผ่านศุนย์กลาง ตั้งแต่ 100 ไมครอนลง ส่วนฝุ่นขนาดเล็ก (PM10) หมายถึง ฝุ่นที่มีเส้นผ่านศุนย์กลางตั้งแต่ 10 ไมครอนลงมา ฝุ่นละอองที่เป็นบัญหามลพิษ สำคัญอันดับหนึ่งของกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2541 ธนาคารทั่วโลก  ได้ให้ทุนสนับสนุนการศึกษาเรื่องผลกระทบของฝุ่นละอองที่มีต่อสุขภาพอนามัยของ คนในกรุงเทพมหานคร เพื่อพบว่าฝุ่นละอองในกรุงเทพมหาคร มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย โดยมีระดับความรุนแรงใกล้เคียงกับผลการศึกษาจากเมืองต่างๆทั่วโลก โดยระดับของฝุ่นขนาดเล็กอาจทำให้คนในกรุงเทพมหานครตายก่อนเวลาอันควร ถึง 4,000 - 5,500 รายในแต่ละปี นอกจากนี้ยังพบว่าการเข้ทารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลมีความสัมพันธ์กับ ปริมาณฝุ่นขนาดเล็ก  และจากการประเมินทางด้านเศรษศาสตร์แสดงให้เห็นว่าสามารถลดปริมาณ PM10 ในบรรยากาศลงได้ 10 ลูกบาศก์เมตร จะช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพ คิดเป็นจำนวนเงิน 35,000 - 88,000 ล้านบานต่อปี
แหล่งที่มาของฝุ่นละอองในบรรยากาศโดยทั่วไปจะแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1. ฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ (Natural Particle)    เกิดจากกระแสลมที่พัดผ่านตามธรรมชาติ ทำให้เกิดฝุ่น เช่น ดิน ทราย ละอองน้ำ เขม่าควันจากไฟป่า ฝุ่นเกลือจากทะเล
2. ฝุ่นละอองที่เกิดจากกิจกรรมที่มนุษย์ (Man-made Particle) เช่นการคมนาคมขนส่ง รถบรรทุกหิน ดิน ทราย ซีเมนต์หรือวัตถุที่ทำให้เกิดฝุ่น หรือดินโคลนที่ติดอยู่ที่ล้อรถ ขณะแล่นจะมีฝุ่นตกอยู่บนถนน แล้วกระจายตัวอยู่ในอากาศ ไอเสียจากรถยนต์ เครื่องยนต์ดีเซลปล่อยเขม่า ฝุ่น ควันดำ ออกมา ถนนที่สกปรก มีดินทรายตกค้างอยู่มาก หรือมีกองวัสดุข้างถนนเมื่อรถแล่นจะทำให้เกิดฝุ่นปลิวอยู่ในอากาศ การก่อสร้างถนนใหม่ หรือการปรับปรุงผิวจราจร ทำให้เกิดฝุ่นมาก ฝุ่นที่เกิดจากยางรถยนต์ และผ้าเบรค และ การก่อสร้าง การก่อสร้างหลายชนิด มักมีการเปิดหน้าดินก่อนการก่อสร้าง ซึ่งทำให้เกิดฝุ่นได้ง่าย เช่น อาคาร สิ่งก่อสร้าง การปรับปรุงสาธารณูปโภค การก่อสร้างอาคารสูง ทำให้ฝุ่นปูนซีเมนต์ถูกลมพัดออกมาจากอาคาร การรื้อถอน ทำลาย อาคารหรือสิ่งก่อสร้าง
ผลกระทบจากฝุ่นละอองต่อสภาพบรรยากาศ       ฝุ่นละอองจะลดความสามารถในการมองเห็น ทำให้ทัศนวิจัยไม่ดี เนื่องจากฝุ่นละอองในบรรยากาศเป็นอนุภาคของแข็งที่ดูดซับและหักเหแสงได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดและความหนาแน่น และองค์ประกอบของฝุ่นละออง เช่น ต่อวัตถุและสิ่งก่อสร้าง ฝุ่นละอองที่ตกลงมา นอกจากจะทำให้เกิดความสกปรกเลอะเทอะแก่บ้านเรือน อาคาร สิ่งก่อสร้างแล้ว ยังทำให้เกิดการทำลายและกัดกร่อนผิวหน้าของโลหะ หินอ่อน หรือวัตถุอื่นๆ เช่น รั้วเหล็ก หลังคาสังกะสี รูปปั้น หรือ ต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์         นอกจากฝุ่นละอองจะทำให้เกิดอาการคายเคืองตาแล้ว ยังทำอันตรายต่อระบบหายใจ เมื่อเราสูด เอา อากาศที่มีฝุ่นละอองเข้าไป โดยอาการระคายเคืองนั้นจะเกิดขึ้นตามส่วนต่าง ๆ ของระบบ ทางเดินหายใจ ขึ้นอยู่กับขนาดของฝุ่นละออง โดยฝุ่นที่มีขนาดใหญ่ร่างกายจะดักไว้ได้ที่ขนจมูก ส่วน ฝุ่นที่มีขนาดเล็กนั้นสามารถเล็ดลอดเข้าไปในระบบหายใจ ทำให้ระคายเคือง แสบจมูก ไอ จาม มีเสมหะ หรือมีการสะสมของฝุ่นในถุงลมปอด ทำให้การทำงานของปอดเสื่อมลง
ในการลดปัญหาจากฝุ่นละออง ต้องการควบคุมที่แหล่งกำเนิด เช่น การติดตั้งระบบกำจัดฝุ่นละอองในโรงงานอุตสาหกรรม ปรับปรุงคุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงในยานพาหนะและโรงงานอุตสาหกรรม ป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองจากรถบรรทุกหิน ดิน ทราย วัสดุก่อสร้าง ด้วยการคลุมผ้าใบให้มิดชิด การก่อสร้างอาคารต้องป้องกันไม่ให้ฝุ่นปลิวออกมาจากตัวอาคารโดยใช้ ผ้าใบคลุม และล้างทำความสะอาดล้อรถที่วิ่งเข้าออกบริเวณก่อสร้างทุกครั้ง การก่อสร้างถนน ต้องลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นด้วยการพ่นละอองน้ำให้พื้นเปียกชุ่มอยู่ตลอดเวลา ปรับปรุงมาตรฐาน กฏหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น คุณภาพอากาศในบรรยากาศมลพิษที่ปล่อยออกมาจากโรงงานอุตสาหกรรม ไอเสียที่ปล่อยออกจากยานพาหนะ เข้มงวด กวดขันยานพาหนะที่ปล่อยมลพิษเกินมาตรฐาน ร่วมมือกันลดฝุ่นละออง ผู้ขับขี่รถควรเคารพกฏจราจร และขับรถด้วยความนุ่มนวล ควรดูแลเอาใจใส่ บำรุงรักษารถของตนให้อยู่ในสภาพดี ตรวจสอบสภาพและปรับแต่งเครื่องยนต์ประจำทุกปี เพื่อควบคุมมลพิษที่ปล่อยออกมา ช่วยกันปลูกต้นไม้ และบำรุงรักษาต้นไม้ เพื่อเพิ่มอากาศบริสุทธิ์ ช่วยกันเก็บกวาดรักษาหน้าบ้านให้สะอาด ปราศจากฝุ่น และไม่กวาดฝุ่นลงบนถนน หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในที่ที่มีการจราจรหนาแน่น เป็นเวลานาน ๆ คนงานอุตสาหกรรม ที่ทำงานในโรงงานที่มีฝุ่นละอองมาก ควรใช้อุปกรณ์ป้องกันระบบหายใจที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสม
ในจังหวัดเพชรบุรีปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ มีปัญหาเฉพาะในเขตในเมืองเท่านั้น เนื่องจากยานพาหนะที่ปล่อยควันจากสภาพเครื่องยนต์ที่มีคุณภาพต่ำ และการก่อสร้างในเขตเมืองที่ไม่ได้ควบคุมฝุ่นละออง รวมทั้งการเผาไหม้เศษขยะ เศษกิ่งไม้ รวมทั้งการเผาวัสดุการเกษตร ยกเว้นในเขตอุตสาหกรรมแถบๆ เขาย้อยซึ่งมีการประกอบกิจกรรมหลายชนิดที่มีผลต่อการเกิดฝุ่นขนาดเล็ก ถ้าหากยังไม่ได้ควบคุมผลกระทบจาการผลิตให้ได้ตามมาตรฐาน และรู้จักป้องกันตนเองในการทำงาน คุณภาพชีวิตของคนเพชรบุรีก็ลดลงตามสภาพ ความร่ำรวย จากรายได้จากการอุตสาหกรรมคงไม่มีความหมายสำหรับเราเท่าใดนัก


                                                                         อาคเณย์     กายสอน

                                                             ที่นี่เพชรบุรี      1  พฤษภาคม  2552