วันเสาร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2553

ความรู้เรื่องพิษแมงดาทะเล

ความรู้เรื่องพิษแมงดาทะเล

เมื่อกล่าวถึงแมงดาความหมายในความคิดคือสัตว์ที่ตัวผู้ที่เกาะหลังตัวเมียหากินอยู่ในทะเล เป็นตัวแทนของผู้ชายในสังคมปัจจุบันที่ไม่ทำมาหากิน อาศัยผู้หญิงที่ประกอบอาชีพที่ไม่เหมาะสมเพื่อกดขี่หารายได้ในการเลี้ยงชีวิตไปวันๆ ด้วยเหตุที่มีการพบเห็นและเปรียบเทียบกับแมงดาทะเลที่มองเห็น ในความจริงแล้วการที่แมงดาทะเลเกาะหลังกันเป็นวงจรชีวิตของสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่มีชีวิตมานามมากกว่า 470 ล้านปีโดยที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างน้อยมาก จากพบซากดึกดำบรรพ์ ของสัตว์ทะเลพบว่า แมงดาทะเลมีวิวัฒนาการน้อยมาก และสามารถอยู่รอดในทุกสภาพการเปลี่ยนแปลงทุกระบบนิเวศ
               แมงดาทะเลเป็นสัตว์ทะเลโบราณที่ยังคงเหลืออยู่ในโลกปัจจุบันเพียง 4 ชนิด ที่ พบในทะเลไทยมีอยู่ 2 ชนิด คือแมงดาจานหรือแมงดาหางเหลี่ยม  และ แมงดาถ้วยหรือแมงดาหางกลม  ทั้งสองชนิดมีความเป็นอยู่ในสภาพแวดล้อมต่างกัน แมงดาจานอาศัยอยู่ตามพื้นทะเล วางไข่ตามริมชายฝั่งที่เป็นดินทราย ส่วนแมงดาถ้วยอาศัยอยู่ตามพื้นทะเลที่เป็นดินโคลนและตามลำคลองในป่าชายเลนเท่า ที่มีรายงานในประเทศไทย เฉพาะแมงดาหางกลมเท่านั้นที่อาจเป็นพิษ และมักเรียกชื่อแมงดาที่เป็นพิษว่าแมงดาไฟ หรือ เหรา จนบางครั้งทำให้เข้าใจสับสนว่า เหรา เป็นแมงดาชนิดที่สาม จากคำบอกเล่ามักอธิบายถึงลักษณะของเหราว่าตามลำตัวมีขนยาวที่นักอนุกรมวิธาน ได้ศึกษาแน่ชัดแล้วว่า แมงดาไฟ หรือ เหรา ก็คือแมงดาหางกลมบางตัวนั่นเอง การเป็นพิษนั้นจะเกิดเฉพาะช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - กันยายน เหตุที่แมงดาถ้วยมีพิษเป็นบางช่วงนี้ สันนิษฐานว่าเวลาดังกล่าวอาจมีการเจริญแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วของแพลงก์ตอน บางชนิด เช่น ไดโนแฟลกเจลเลต ที่สร้างสารพิษ แล้วแพลงค์ตอนชนิดดังกล่าวถูกกินโดยหอยหรือหนอนซึ่งเป็นสัตว์หน้าดิน เมื่อพิษเข้ามาสะสมในหอยหรือหนอนแล้วถูกกินโดยแมงดาทะเล พิษจึงมาสะสมอยู่ในเนื้อและไข่ของแมงดาถ้วย เมื่อคนบริโภคแมงดาถ้วยตัวที่มีสารพิษสะสมอยู่ จึงทำให้เกิดอาการพิษได้ แม้ว่าจะได้ปรุงไข่หรือเนื้อที่บริโภคให้สุดแล้วก็ตาม
               อาการเป็นพิษมักเกิดขึ้นภายหลังรับประทานแมงดาทะเลประมาณ 10-45 นาที หรืออาจช้าไปจนถึง 3 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับชนิดและแหล่งที่อยู่ของแมงดาทะเล ฤดูกาล จำนวนที่รับประทาน หรือปริมาณของสารพิษที่ได้รับ เช่นรับประทาน ไข่แมงดา อาการพิษจะเกิดรุนแรงกว่ารับประทานเฉพาะเนื้อ อาการมักเริ่มจากมึนงง รู้สึกชา บริเวณลิ้น ปาก ปลายมือ ปลายเท้าและมีกล้ามเนื้ออ่อนแรง เริ่มจาก มือ แขน ขา ตามลำดับ รวมทั้งอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย บางรายอาจมีน้ำลายฟูมปาก เหงื่อออกมาก พูดลำบาก ตามองเห็นภาพไม่ชัด ในรายที่มีอาการรุนแรงมาก จะมีผลทำให้กล้าม เนื้อหายใจอ่อนแรง ผู้ป่วยอาจตายภายใน 6-24 ชั่วโมง จากการหยุดหายใจ  อาการพิษจากแมงดาทะเลนั้นยังไม่มี ปริมาณของพิษเฉพาะ จึงต้องให้การรักษา โดยเอาสิ่งที่เป็นพิษออกจากร่างกายให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการทำการรักษาแบบใด ควรเฝ้าระวังดูแลเกี่ยวกับการหายใจ ถ้าหยุดหายใจ อาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ สาเหตุของการเกิด
          
               การระบาดในครั้งนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด ข้อมูลการทดสอบความเป็นพิษเบื้องต้น พบว่า แมงดาถ้วยที่พบในประเทศไทย บางตัวมีพิษ บางตัวไม่มีพิษ โดยทั่วไปพบว่ามีพิษประมาณ 30 % แต่ไม่สามารถแยกตัวที่มีพิษกับตัวที่ไม่มีพิษจากลักษณะภายนอกได้ จากการสอบถามผู้ป่วย ส่วนใหญ่รับประทานแมงดาถ้วย สาเหตุที่รับประทานแมงดาถ้วย  ประการแรก เพราะความเชื่อผิดๆ ของ ชาวบ้านว่า ตัวเห-รามีพิษ แต่แมงดาถ้วยไม่มีพิษ ตัวเห-ราสามารถแยกจากแมงดาถ้วย คือ ตัวมีขนและ ตาแดง ประการที่สอง ปัจจุบันมีชาวประมงจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้น ซึ่งอาจจะไม่มีความรู้ในการแยกประเภท แมงดาประการที่สาม ในปีนี้พบแมงดาถ้วยเพิ่มขึ้นและแมงดาจานลดลงอย่างมาก   เป็นอัตราส่วน แมงดาจานต่อแมงดาถ้วย 1 : 100 ซึ่งสาเหตุดังกล่าวยังไม่ทราบแน่ชัด

        
อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยบางรายยืนยันว่าเป็นพิษจากแมงดาจาน ซึ่งไม่เคยเป็นพิษมาก่อน  นอกจากนี้ข้อมูล การระบาด พบการเป็นพิษของแมงดาทะเล ก่อนหน้านี้ปีละ 0-1 ราย แต่ในการระบาดครั้งนี้มีผู้ป่วย เป็นร้อยราย และรายงานผู้ป่วยเป็นกลุ่มบริเวณจังหวัดสมุทรปราการถึงชลบุรี ซึ่งถ้าเป็นจากแมงดาจาน มีพิษจริง อาจจะเกิดจาก การผสมข้ามพันธุ์ หรือจากการสร้างสารพิษขึ้นใหม่เนื่องจากสภาวะสิ่งแวดล้อม  หรือเกิดปรากฏการณ์น้ำแดง  ข้อสรุปดังกล่าวยังต้องศึกษาต่อไป  สำหรับปรากฏการณ์น้ำแดง หรือน้ำทะเลเปลี่ยนสี เป็นปรากฏการณ์ที่สีของน้ำทะเลเปลี่ยนไป เป็นสีเขียว สีน้ำตาลแดง หรือสีแดง สาเหตุที่น้ำทะเลเปลี่ยนสีเนื่องจากมีการเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์  ของแพลงตอนหรือสาหร่ายเซลล์เดียว  จำพวก ไดโนเจลเฟลเล็ต จำนวนมาก โดยทั่วไป ถ้าสภาวะอาหารน้อยสาหร่ายเซลล์เดียวจะแพร่พันธุ์ทำให้เกิด  ตกตะกอนอยู่บนพื้นทะเลแต่ในบางเวลาที่สภาวะสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม   สาหร่ายเซลล์เดียวเหล่านี้จะขยายพันธุ์แบบ ไม่ใช้เพศ คือการแบ่งตัวที่ทำให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยปกติสาหร่ายเซลล์เดียว มี 2-3 ตัวใน น้ำ 1 ลิตร ในภาวะ เข้มข้นอาจแบ่งตัวมากถึง 20 ล้านตัว ในน้ำ 1 ลิตร   ผลกระทบของน้ำเปลี่ยนสี คือทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำตายด้วยสาเหตุต่างๆ เช่น อุดตันที่เหงือก ปริมาณ ออกซิเจน ในน้ำน้อยลง และตายจากสารพิษเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคสัตว์น้ำ เช่น หอย 2 ฝา ที่สะสมสารพิษที่สร้าง จากสาหร่าย เซลล์เดียวไว้ในตัวผู้ที่บริโภค หอยที่ปนเปื้อนสารพิษก็ จะเกิดพิษขึ้น
                ในต่างประเทศ มีรายงานการตายของสัตว์เศรษฐกิจชนิดต่างๆ หรือการตายของสัตว์อนุรักษ์ เช่น ปลาวาฬ ซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจจำนวนไม่น้อยปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี  กำลังจะเป็นปัญหาสำคัญของ โลกปัญหาหนึ่ง ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ  ปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีพบบ่อยขึ้นหลายเท่าในบริเวณที่เคยพบภาวะน้ำแดง สาเหตุที่พบน้ำทะเลเปลี่ยนสีบ่อยขึ้น เข้าใจว่าเกิดจากมลภาวะตามชายฝั่งทะเล โดยเฉพาะตามเมือง ใหญ่ๆ จากการศึกษายืนยันว่าถ้าอัตราส่วนของ ไนโตรเจน หรือ ฟอสฟอรัส ซึ่งเป็นของเสียที่ปล่อยลงในทะเลต่อ ซิลิก้า สูงขึ้น จะทำให้สาหร่ายเซลล์เดียวชนิดเป็นพิษแน่นหนามาก ขึ้น 
และ ได้มี ปรากฏการณ์ดังกล่าว เกิดในบริเวณที่ไม่เคยเกิดทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย สาเหตุที่สำคัญเนื่องจากปัจจุบันมีการเดินเรือติดต่อกันทั่วโลก เรือเหล่านี้สามารถนำเซลมีชีวิต ของสาหร่ายเซลล์เดียว  จากที่หนึ่งแพร่ ไปอีกที่หนึ่งได้โดยง่าย       ในประเทศไทยได้มีการศึกษาภาวะน้ำแดงในอ่าวไทย พบว่ามักจะเกิดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึง พฤษภาคม 
       พิษของแมงดาทะเลมีอันตรายมากถึงชีวิตได้ ถ้ารับประทานโดยไม่มีข้อมูลที่ถูกต้อง การศึกษากับความเชื่อของชุมชนยังแตกต่างกันอยู่ แต่อย่างไรก็ตามแมงดาทะเลที่ต้องอาศัยชายฝั่งเป็นที่วางไข่และขยายพันธุ์ ถูกมนุษย์สัตว์ที่มีวิวัฒนาการเพียง 1 ล้านปี ขยายกิจการเพื่อการท่องเที่ยว เพาะเลี้ยง และทำกิจกรรมอื่นๆ จนไม่สามารถให้พวกมันขยายพันธุ์ได้ ตำนานสัตว์ดึกดำบรรพ์ 470  ล้านปีคงจบสิ้นไปในยุคนี้แล

                                                                  อาคเณย์  กายสอน
                                              

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น