วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ข้อคิดจากน้ำท่วมกรุงเทพฯ

ข้อคิดจากน้ำท่วมกรุงเทพฯคราวนี้  ไม่ได้เป็นข้อคิดของตนเองในการที่จะคิดอะไรได้มากมายนักเพราะมีส่วนได้รับผลกระทบไม่มากนักเพียงเพราะเพชรบุรีปีนี้น้ำไม่ท่วม และก็ไม่แล้งจนเกินไปพอมีน้ำทำนาปลูกพืชผักไว้กินและเผื่อแผ่ถึงคนกรุงเทพเมืองฟ้าอมรตอนน้ำและหลังน้ำท่วม แต่หลายคนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมได้เขียนข้อคิดดีๆเอาไว้น่าจะมีประโยชน์ ขำขำ และขำไม่ออกเหมือนกันเช่น
           น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นมาในชั่วชีวิตคนร่วมสมัยครั้งนี้ นอกเหนือจากความเสียหาย ความทุกข์กายทุกข์ใจที่บังเกิดกับผู้ประสบภัยแล้ว อีกด้านหนึ่งคือการสะท้อนถึงจุดอ่อน หรือความเสี่ยง ของวิถีชีวิตของคนส่วนใหญ่ในปัจจุบันและเห็นได้ชัดว่าคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนในเมืองใหญ่ ไม่สามารถ ช่วยตัวเองได้ในเรื่องที่เป็นความจำเป็นพื้นฐาน ชีวิตที่ต้องพึ่งพา ความสะดวกสบาย หิว หรือกระหายน้ำ ขึ้นมาเมื่อไร ก็เดินเข้าร้านสะดวกซื้อ ซื้ออาหารสำเร็จรูป ซื้อน้ำดื่มบริโภคเมื่อระบบการผลิต และกระจาย สินค้า ซึ่งกระจุกตัวอยู่ในแหล่งเดียวกัน พังทะลายลงเพราะกระแสน้ำ บะหมี่สำเร็จรูป น้ำดื่ม ไข่ไก่ ข้าวสาร ก็หายไปจากชั้นในห้างโมเดิร์นเทรดขนาดใหญ่ และร้านสะดวกซื้อ ที่กระจายอยู่ทุกซอกซอยใน กรุงเทพฯ เพราะผู้คนแตกตื่นแห่กันไปซิ้อตุนไว้ของเก่าหมดไป ในขณะที่ของใหม่ไม่มีเข้ามาเติมเนื่องจากโรงงาน และศูนย์กระจายสินค้าถูกน้ำท่วม
           ร้านโชห่วยแบบเก่า ที่ไม่สามารถแข่งขันกับร้านสะดวกซื้อสมัยใหม่จนต้องปิดกิจการไป เกือบหมด รถเร่ขายของสด เครื่องอุปโภคบริโภคตามชุมชน กลายเป็นที่พึ่งพาในยามยาก แม้อาจจะไม่ได้เต็มร้อย แต่ก็พอจะฝาก ชีวิตไว้ได้ เพราะร้านค้าเหล่านี้ อยู่นอกระบบ การจัดการค้าสมัยใหม่ ที่รวมศูนย์การกระจาย สินค้าไว้กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่เพียงเจ้าเดียวร้านค้าเหล่านี้มีแหล่งป้อนสินค้ หรือ ยี่ปั๊ว ขนาดกลาง ขนาดย่อม ที่กระจายกันไป ตามทำเลที่ตั้งของร้าน ไม่ได้กะจุกตัวอยู่ภายใต้ศุนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ เพียงรายเดียว เหมือนร้านสะดวกซื้อ และห้างขายปลีกขนาดใหญ่ จึงไม่ได้จมน้ำไปพร้อมๆ กับศูนย์กระจายสินค้า ด้วยน้ำท่วมครั้งนี้ จึงสะท้อนถึงความเสี่ยงของผู้คนส่วนใหญ่ ที่มีชีวิตประจำวันขึ้นต่อ ระบบการค้าปลีก สมัยใหม่ ที่รวมศูนย์ผูกขาดทุกสิ่งทุกอย่างไว้กับผู้ให้บริการเพียงรายเดียว เป็นความเสี่ยงที่ในยามปกติ มองไม่เห็น คาดไม่ถึง เพราะคงไม่มีใครจิตนาการได้ว่า ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ที่เปิด 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด จะไม่มีน้ำขายแม้แต่ขวดเดียว
          เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่คราวนี้ สาเหตุหนึ่ง เป็นเพราะมนุษย์รุกล้ำธรรมชาติมากเกินไป และ ธรรมชาติก็กำลังเอาคืนกับมนุษย์แบบ จัดหนักและ จัดเต็ม’ (ทุกพื้นที่)- อดคิดไม่ได้ว่า หลังน้ำลด และกลับเข้าสู่ภาวะปรกติแล้ว จะทำอย่างไรดีกับจำนวนกระสอบทรายจำนวนอภิมหามหึมา นับล้านๆ กระสอบหรือจะเอาไว้ใช้ปีหน้า หลายๆ คนที่เคยสงสัยว่า สัตว์ประเภท กบ เขียด ปาด คางคก อึ่งอ่าง มันมีชีวิต และอาศัยอยู่กันได้อย่างไร ในระบบนิเวศน์ที่ชื้นแฉะ เปียกๆ ปอนๆ….ยามนี้ความสงสัย นั้นได้ถูกเฉลยแล้วเมื่อรู้ว่ามนุษย์ก็ได้กลายเป็น มนุษย์ครึ่งบก ครึ่งน้ำและที่น่าสนใจมากขึ้นอีกในประเทศไทย คือประเทศหนึ่งเดียวที่เพาะเลี้ยงและส่งออกจระเข้มากที่สุดในโลกโดยมีการส่งออกกว่า 500,000 ตัว/ปี ส่วนมาตรการดูแลป้องกัน (การหลุดรอดออกไป ยามเกิดอุทกภัย) อยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐาน และนั่นเป็นสาเหตุของการ เพ่นพ่านไปทั่ว อยู่ทุกวันนี้และเจ้าของฟาร์มจระเข้ ได้ออกมาชี้แจง และให้คำรับรองผ่านสื่ออย่างเป็นทางการว่า จระเข้ตัวเล็กๆ ความยาวจากหัวจรด หางไม่เกิน 2 เมตร จะไม่มีนิสัยดุร้าย อาจจะมีการกัดหรืองับ เล่นๆ แบบสุนัขบ้างเท่านั้น และคงจะตลกพิลึกถ้าวันใดวันหนึ่ง มีจระเข้ขึ้นไปนอนอ้าปาก อาบแดดยามเช้าอย่างสบายใจ ที่อนุสาวรีย์ชัยฯ เซ็นเตอร์พอยท์ ลานเซ็นทรัลเวิลล์
คนที่อาศัยอยู่ กทม. ส่วนใหญ่เป็นคนมีพื้นเพมาจากต่างจังหวัด มีพ่อแม่ ปูย่า ตายายอยู่ต่างจังหวัด ร้อยวัน พันปี จึงจะกลับไปเยี่ยมเยียนท่านเหล่านั้นสักครั้ง หรือไม่ก็ต้องรอเมื่อมีโอกาส หรือวันสำคัญ แต่พอ ระดับน้ำภายในบ้านเริ่มสูงขึ้นอยู่ๆ ก็เกิดอาการ สำนึกรักบ้านเกิดขึ้นมาซะงั้น แห่กันหนีออก ต่างจังหวัด กลับบ้านเกิด รถติดยาวเหยียด
          ในสยามประเทศแห่งนี้ มีบรรดาผู้ที่เรียกตนเองอย่างภาคภูมิใจว่าเป็น ผู้มีความรู้ ผู้มีปัญญา และมี อยู่เต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด ดีกรีนักเรียนนอกเรียนจบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกปริญญาหลายใบ ยาวเป็นหางว่าว ร่ายยาวเรื่องทฤษฎีหลักกลศาสตร์ของไหล ให้พวกเราชาวบ้านฟัง ทุกค่ำ-เช้า ผลก็อย่างที่เห็น กันอยู่เถียงกันไปเถียงกันมา สุดท้ายก็บริหารแบบจมโดยทั่วกัน นครสวรรค์ยันกรุงเทพฯ แต่ตาคำ อาชีพทำนา อยู่ที่บ้านหนองอีโก้ง เรียนจบ ป. 2 พูดสอนให้หลานๆ ฟังว่า น้ำมา ก็ปล่อยให้มันไหลไปแค่ทำทางให้มันไหล ไปสู่ที่ต่ำ เหมือนกับที่เวลาฝนตกที่บ้าน แค่ขุดทางน้ำให้มันไหลไปที่ต่ำ เดี๋ยวมันก็ไหลออกไปหมดเอง แต่ถ้ายิ่งไปกั้นมัน มันก็ยิ่งสูง และเมื่อยิ่งสูงก็ยิ่งมีแรงดัน ถ้ามันพังครืนลงมา ก็เดือดร้อนมาก เสียหายมากท่านผู้มีความรู้ ผู้มีปัญญา ของบ้านเมืองนี้ เพิ่งจะนึกออกหรืออย่างไรมิทราบได้ร่งพากันเจาะช่องทางน้ำ ไปสู่ที่ต่ำ ตามแนวทฤษฎีบ้านๆ อย่างตาคำผู้มีความรู้แค่ ป. 2
          คนรวย มีฐานะ อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน โครงการแพงๆ เตรียมอาหาร น้ำดื่ม ทุกสิ่ง ทุกอย่าง มีพร้อมสรรพ แต่ทำไมถึงเกิดปรากฏการณ์หนีตายต้องการอพยพออกจากหมู่บ้าน เพียงแค่ไม่มีไฟฟ้าใช้ไม่ได้กินข้าวกินน้ำยังอยู่ได้ ทนได้แต่ถ้า ไม่ได้โทรศัพท์+อัพเฟสบุ๊ค+lookทวิตเตอร์นั่น อาจถึงแก่ชีวิต ต้องอพยพหนีออกมา (โฆษณาที่ว่า น้ำกับไฟฟ้า อะไรสำคัญกว่ากันคนกลุ่มนี้ ขอเลือกไฟฟ้า)
และสุดท้ายท่านครับเขื่อน เขามีเอาไว้เพื่อประโยชน์ในการช่วยชะลอน้ำในฤดูน้ำหลาก ไม่ให้น้ำไหลบ่า พรวดพลาด หลากเข้าท่วมบ้านเรือน เรือกสวนไร่นา และอีกทั้งยังประโยชน์ในการกักเก็บน้ำ นั้น เพื่อเอาไว้ใช้ในฤดูแล้ง แต่ ณ ดินแดนประเทศนี้.เขื่อนกลับกลายเป็นต้นตอเป็นต้นเหตุแห่ง อุทกภัยพื้นที่ใต้เขื่อนทั้งหลายทั่วประเทศ ใครที่คิดว่ามีเขื่อนจะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ ก็คิดใหม่ว่าเขื่อนคือตัวการที่ทำให้น้ำท่วมได้เช่นกัน
          ข้อคิดจากน้ำท่วมกรุงเทพฯ ครานี้เป็นบทเรียนที่คนเพชรบุรีได้เรียนรู้ประสบการณ์ของชีวิตอันแท้จริงได้อย่างชัดเจน ไม่มีใครมาคาดการณ์อนาคตของพิบัติได้ถูกต้องแม่นยำ แต่เราผู้เป็นมนุษย์ในธรรมชาติต้องเตรียมการรับมือกันไว้อย่างไม่ประมาท บทเรียนนี้คงเป็นบทเรียนที่ต้องสำนึกและจดจำกันไว้ตลอดกาล

วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2555

วิกฤตลุ่มน้ำเพชรบุรีอนาคตที่ต้องเตรียมการ

น้ำจัดเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์ ซึ่งเคยมีให้ใช้ได้อย่างไม่จำกัด แต่หลายปีที่ผ่านมานี้ หลายประเทศในโลกกลับต้องประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก การพัฒนาทางเศรษฐกิจ และการทำลายระบบนิเวศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดไม้ทำลายป่าของมนุษย์ จนทำให้เกิดภัยธรรมชาติในรูปแบบต่างๆ การตระหนักถึงวิบัติภัยจากน้ำ ได้รับการกระตุ้นและปลุกกระแสความตื่นตัวทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย แม้ว่าปัญหาการขาดน้ำในประเทศไทยจะยังพอรับมือได้ แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถละเลยได้ต่อไป หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ซึ่งมีไม่น้อยกว่า 32 หน่วยงาน ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่นับวันปัญหาวิกฤตน้ำยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากการแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างไร้ทิศทาง ปราศจากนโยบายที่ชัดเจน และขาดการบูรณาการร่วมกัน
         ลุ่มน้ำเพชรบุรี ประกอบด้วยแม่น้ำเพชรบุรีและแม่น้ำสาขาเพชรบุรีตอนล่างที่ติดต่อกัน ในเขตอำเภอเมืองและบ้านแหลม  ตลอดความยาวของแม่น้ำในบริเวณลุ่มน้ำเพชรบุรี  มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจของชุมชนที่ต้องมีการใช้น้ำอย่างต่อเนื่อง   และเพิ่มขึ้นเหนือการคาดประมาณ  การบริหารจัดการน้ำเป็นองค์ความรู้ที่ต้องใช้กระบวนการใหม่คือประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น    การบริหารจัดการน้ำต้องใช้ความรู้หลายสาขาวิชาและข้อมูลจากแหล่งต่างๆ มารวมกันที่เรียกว่าบูรณาการ  ความสำเร็จของการผสมผสานอยู่ที่การให้ทุกภาคส่วนได้รับความรู้และร่วมกันรับผิดชอบมากขึ้น  ดังนั้นการบริหารจัดการน้ำจึงไม่ใช่หน้าที่ของผู้ใด  หรือหน่วยงานใดที่ต้องรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว  จังหวัดเพชรบุรีมีหน่วยงานประสานงานเรื่องน้ำ  เรียกว่าฝ่ายทรัพยากรน้ำจังหวัด เป็นองค์กรใหม่ภายใต้การกับดูแล ของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเพชรบุรี การดำเนินการบริหารจัดการมีการกำกับดูแลและพิจารณาจากคณะอนุกรรมการลุ่มน้ำแต่อย่างไรก็ตาม  ปริมาณน้ำในลุ่มน้ำทุกลุ่มน้ำมีจำนวนน้อยลงทุกขณะ  เนื่องจากระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไป  อากาศที่ร้อนขึ้นทำให้การกลั่นตัวของไอน้ำซึ่งอาศัยความเย็นลดลง เพราะบริเวณที่เป็นป่าไม้น้อยลงทุกวัน   กรมชลประทานมีหน้าที่ในการจัดหาและแจกจ่ายน้ำตามระบบที่สร้างขึ้นโดยหลักวิชาการมามากว่า ร้อยปี พบว่าปริมาณการใช้น้ำในทุกภาคส่วนในประเทศไทยสูงขึ้นทั้งการเกษตร อุตสาหกรรม  และภาคครัวเรือน แต่น้ำจืดลดลง  ปริมาณน้ำฝนที่ตกทุกปี  สามารถกักเก็บไว้ใช้ได้เพียงไม่ถึง 20 % ของน้ำฝนทั้งหมด    ปริมาณกักเก็บของจังหวัดเพชรบุรีทั้งในเขื่อนขนาดเล็กและแก่งกระจานทำได้สูงสุดในปัจจุบันคงไม่เกิน 682 ล้านลูกบาศก์ก็เมตร จากปริมาณน้ำท่าที่คาดว่าจะมี  1385  ล้านลูกบาศก์ก็เมตร ในขณะเดียวกัน   ความต้องการใช้คือราว 861 ล้านลูกบาศก์ก็เมตร จากข้อมูลดังกล่าวเราจะเห็นมีความขาดแคลนเกิดขึ้นแล้ว  แต่ยังไม่ถึงวิกฤติ
            การดำเนินการเรื่องน้ำจำเป็นต้องดำเนินการวางแผนและโครงด้านการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบเป็นต้นว่า การจัดหาน้ำซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะต้องบูรณาการต่อเนื่องกับระบบการอนุรักษ์ป่าไม้ อนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำ  การสร้างความเข้าใจในการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศแก่ชุมชน การวางแผนแม่บทในการอนุรักษ์น้ำ รวมทั้งจัดทำระบบเครือข่ายน้ำทั้งระบบ    ด้านการบริหารจัดการน้ำ ต้องสร้างขีดความสามารถในการใช้น้ำ โดยให้การศึกษาต่อระบบการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ  ลดการสูญเสียทั้งในระบบและนอกระบบ  เช่น การส่งน้ำทางท่อเพื่อลดการระเหย   การในน้ำพืชโดยการใช้ระบบน้ำหยดแทนการใช้ระบบปัจจุบัน   ในเรื่องของชุมชน นอกจากความรู้ในการบริหารจัดการน้ำแล้วยังต้อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในการดำเนินการมีส่วนร่วมบริหารจัดการด้วยตนเอง  สร้างวัฒนธรรมใหม่กับการใช้น้ำ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ  รวมทั้งมีส่วนร่วมที่จะกำหนดพื้นที่ผังเมืองรวม  และศึกษา ความสามารถของลุ่มน้ำในการที่จะรองรับกิจกรรมของชุมชน  ไม่ว่าจะเป็นการเกษตร การอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว  บทเรียนของลุ่มน้ำในภาคตะวันออกเป็นสิ่งที่ต้องจดจำ  และเตือนประชากรทุกภาคส่วนของประเทศ ในการพร้อมรับวิกฤตการน้ำในอนาคต  การไม่เตรียมการล่วงหน้า การไม่ศึกษาบทเรียน เป็นหายนะ ของมวลมนุษยชาติ  วันนี้ชาวเพชรบุรีพร้อมหรือยังที่ต้องเข้ามีส่วนร่วมในการจัดการลุ่มน้ำเพชรบุรีของเราด้วยตัวเราเอง