วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2555

วิกฤตลุ่มน้ำเพชรบุรีอนาคตที่ต้องเตรียมการ

น้ำจัดเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์ ซึ่งเคยมีให้ใช้ได้อย่างไม่จำกัด แต่หลายปีที่ผ่านมานี้ หลายประเทศในโลกกลับต้องประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก การพัฒนาทางเศรษฐกิจ และการทำลายระบบนิเวศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดไม้ทำลายป่าของมนุษย์ จนทำให้เกิดภัยธรรมชาติในรูปแบบต่างๆ การตระหนักถึงวิบัติภัยจากน้ำ ได้รับการกระตุ้นและปลุกกระแสความตื่นตัวทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย แม้ว่าปัญหาการขาดน้ำในประเทศไทยจะยังพอรับมือได้ แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถละเลยได้ต่อไป หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ซึ่งมีไม่น้อยกว่า 32 หน่วยงาน ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่นับวันปัญหาวิกฤตน้ำยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากการแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างไร้ทิศทาง ปราศจากนโยบายที่ชัดเจน และขาดการบูรณาการร่วมกัน
         ลุ่มน้ำเพชรบุรี ประกอบด้วยแม่น้ำเพชรบุรีและแม่น้ำสาขาเพชรบุรีตอนล่างที่ติดต่อกัน ในเขตอำเภอเมืองและบ้านแหลม  ตลอดความยาวของแม่น้ำในบริเวณลุ่มน้ำเพชรบุรี  มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจของชุมชนที่ต้องมีการใช้น้ำอย่างต่อเนื่อง   และเพิ่มขึ้นเหนือการคาดประมาณ  การบริหารจัดการน้ำเป็นองค์ความรู้ที่ต้องใช้กระบวนการใหม่คือประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น    การบริหารจัดการน้ำต้องใช้ความรู้หลายสาขาวิชาและข้อมูลจากแหล่งต่างๆ มารวมกันที่เรียกว่าบูรณาการ  ความสำเร็จของการผสมผสานอยู่ที่การให้ทุกภาคส่วนได้รับความรู้และร่วมกันรับผิดชอบมากขึ้น  ดังนั้นการบริหารจัดการน้ำจึงไม่ใช่หน้าที่ของผู้ใด  หรือหน่วยงานใดที่ต้องรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว  จังหวัดเพชรบุรีมีหน่วยงานประสานงานเรื่องน้ำ  เรียกว่าฝ่ายทรัพยากรน้ำจังหวัด เป็นองค์กรใหม่ภายใต้การกับดูแล ของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเพชรบุรี การดำเนินการบริหารจัดการมีการกำกับดูแลและพิจารณาจากคณะอนุกรรมการลุ่มน้ำแต่อย่างไรก็ตาม  ปริมาณน้ำในลุ่มน้ำทุกลุ่มน้ำมีจำนวนน้อยลงทุกขณะ  เนื่องจากระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไป  อากาศที่ร้อนขึ้นทำให้การกลั่นตัวของไอน้ำซึ่งอาศัยความเย็นลดลง เพราะบริเวณที่เป็นป่าไม้น้อยลงทุกวัน   กรมชลประทานมีหน้าที่ในการจัดหาและแจกจ่ายน้ำตามระบบที่สร้างขึ้นโดยหลักวิชาการมามากว่า ร้อยปี พบว่าปริมาณการใช้น้ำในทุกภาคส่วนในประเทศไทยสูงขึ้นทั้งการเกษตร อุตสาหกรรม  และภาคครัวเรือน แต่น้ำจืดลดลง  ปริมาณน้ำฝนที่ตกทุกปี  สามารถกักเก็บไว้ใช้ได้เพียงไม่ถึง 20 % ของน้ำฝนทั้งหมด    ปริมาณกักเก็บของจังหวัดเพชรบุรีทั้งในเขื่อนขนาดเล็กและแก่งกระจานทำได้สูงสุดในปัจจุบันคงไม่เกิน 682 ล้านลูกบาศก์ก็เมตร จากปริมาณน้ำท่าที่คาดว่าจะมี  1385  ล้านลูกบาศก์ก็เมตร ในขณะเดียวกัน   ความต้องการใช้คือราว 861 ล้านลูกบาศก์ก็เมตร จากข้อมูลดังกล่าวเราจะเห็นมีความขาดแคลนเกิดขึ้นแล้ว  แต่ยังไม่ถึงวิกฤติ
            การดำเนินการเรื่องน้ำจำเป็นต้องดำเนินการวางแผนและโครงด้านการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบเป็นต้นว่า การจัดหาน้ำซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะต้องบูรณาการต่อเนื่องกับระบบการอนุรักษ์ป่าไม้ อนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำ  การสร้างความเข้าใจในการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศแก่ชุมชน การวางแผนแม่บทในการอนุรักษ์น้ำ รวมทั้งจัดทำระบบเครือข่ายน้ำทั้งระบบ    ด้านการบริหารจัดการน้ำ ต้องสร้างขีดความสามารถในการใช้น้ำ โดยให้การศึกษาต่อระบบการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ  ลดการสูญเสียทั้งในระบบและนอกระบบ  เช่น การส่งน้ำทางท่อเพื่อลดการระเหย   การในน้ำพืชโดยการใช้ระบบน้ำหยดแทนการใช้ระบบปัจจุบัน   ในเรื่องของชุมชน นอกจากความรู้ในการบริหารจัดการน้ำแล้วยังต้อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในการดำเนินการมีส่วนร่วมบริหารจัดการด้วยตนเอง  สร้างวัฒนธรรมใหม่กับการใช้น้ำ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ  รวมทั้งมีส่วนร่วมที่จะกำหนดพื้นที่ผังเมืองรวม  และศึกษา ความสามารถของลุ่มน้ำในการที่จะรองรับกิจกรรมของชุมชน  ไม่ว่าจะเป็นการเกษตร การอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว  บทเรียนของลุ่มน้ำในภาคตะวันออกเป็นสิ่งที่ต้องจดจำ  และเตือนประชากรทุกภาคส่วนของประเทศ ในการพร้อมรับวิกฤตการน้ำในอนาคต  การไม่เตรียมการล่วงหน้า การไม่ศึกษาบทเรียน เป็นหายนะ ของมวลมนุษยชาติ  วันนี้ชาวเพชรบุรีพร้อมหรือยังที่ต้องเข้ามีส่วนร่วมในการจัดการลุ่มน้ำเพชรบุรีของเราด้วยตัวเราเอง