วันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2553

การอนุรักษ์และฟื้นฟูแม่น้ำเพชรบุรี

นับเป็นเวลานานหลายทศวรรษที่แม่น้ำได้ถูกใช้ประโยชน์จากมนุษย์แต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้รับการเอาใจใส่และดูแลรักษาอย่างถูกต้อง จนปัจจุบันแม่น้ำทุกสายในประเทศไทยได้ตกอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมทั้งด้านกายภาพ ชีวภาพและระบบนิเวศ จากการที่แม่น้ำมักถูกเข้าใจว่าเป็นเพียงกลไกสำหรับใช้เพื่อการระบายของเสีย การขนส่ง การผลิตพลังงาน การเกษตร การอุตสาหกรรม รวมทั้งการแสวงหาผลกำไรเชิงธุรกิจเท่านั้น จึงมักถูกกระทำด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อควบคุมหรือเอาประโยชน์จากแม่น้ำ เช่น การขุดลอก การดูดทราย การขุดเปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำ การสร้างเขื่อนหรือพนังกั้น การแผ้วถางทำลายพืชพรรณไม้ริมฝั่ง แม้กระทั่งการถมแม่น้ำ หรือถมพื้นที่ชายฝั่งเพื่อครอบครองที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์หรือเพื่อใช้ในการปลูกสร้างสิ่งต่างๆ จนแม่น้ำได้สูญเสียความเป็นธรรมชาติและศักยภาพที่จะเอื้อต่อการดำรงชีพของพืชและสัตว์ทั้งในน้ำและบนบก สูญเสียความสมดุลของระบบนิเวศ ตลอดจนคุณค่าความงามด้านสุนทรียภาพ รวมทั้งมิติและคุณค่าทางจิตวิญญาณด้วย
                            แม่น้ำเพชรบุรีเป็นแม่น้ำที่สำคัญสายหนึ่ง มีต้นกำเนิดจากเทือกตระนาวศรีเขตอำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ไหลผ่านจังหวัดเพชรบุรีเพียงจังหวัดเดียว มีความยาวลำน้ำประมาณ 210 กิโลเมตร ในอดีตชุมชนริมสองฝั่งน้ำมีการใช้ประโยชน์เพื่อการอุปโภคบริโภค ตลอดจนเพื่อการสืบสานขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม และเป็นที่ตั้งของแหล่งศิลปกรรมที่มีคุณค่าอันควรอนุรักษ์จำนวนมาก มีสภาพป่าไม้ที่มีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ มีน้ำใสสะอาดไหลตลอดปี และทรัพยากรสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์
                ปัจจุบันกระแสของการพัฒนาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของประชาชน และก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมากมายต่อแม่น้ำเพชรบุรี   ปัญหาของแม่น้ำเพชรบุรี. คือมีปริมาณน้ำน้อย เนื่องจากมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำเพชรบุรี  2 เขื่อน  ปัญหาการปล่อยของเสียปฏิกูลลงลำน้ำแม่น้ำเพชรบุรี  ทำให้มีการเน่าเสีย เนื่องจากมีการใช้ประโยชน์จากทั้งบ้านพักอาศัย ร้านค้า ตลาด ร้านอาหาร หอพัก โรงแรม รีสอร์ท โรงงาน และการกสิกรรม ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ต้องใช้น้ำอุปโภคมาก เช่น อาบ ซักล้าง ทำความสะอาดสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ และปล่อยของเสียจากการใช้แล้ว ลงท่อสาธารณะและท่อสาธารณะก็ปล่อยน้ำเสียลงลำน้ำเพชรบุรีในที่สุด  ปัญหาการรุกล้ำลำน้ำของสิ่งปลูกสร้างริมแม่น้ำ/อาคาร โดยพบร่องรอยของการถมทำเขื่อนกันตลิ่งที่ริมฝั่งแม่น้ำเพชรบุรี ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทิศทางการไหล การระบายน้ำในแม่น้ำ ระบบการระบายน้ำตามธรรมชาติถูกเปลี่ยนแปลงคือน้ำตื้นเขิน ท่วมขัง ท่วมหลาก การกัดเซาะริมน้ำ การตกตะกอนของน้ำ ร่องน้ำเปลี่ยนรูปทรงชั่วคราวหรือถาวร บริเวณน้ำลดลงแห้งขอด ในบางบริเวณเป็นอุปสรรคต่อการสัญจรของน้ำและการระบายน้ำ ตลอดจนบางบริเวณมีน้ำท่วมซ้ำซาก
สภาพปัญหาดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบ ได้แก่  ผลกระทบในด้านระบบนิเวศวิทยาของลำน้ำ เนื่องจากการลดลงอย่างรวดเร็วของป่าไม้ ทำให้ขาดตัวหน่วงในการไหลของน้ำ ทำให้น้ำไหลเร็วขึ้น ขาดตัวกรองธรรมชาติ เช่น กรวด ทราย น้ำจึงขุ่นเกือบตลอดปี ระบบนิเวศของลำน้ำเพชรบุรีจึงขาดความอุดมสมบูรณ์ สัตว์น้ำและพืชลดลง บางพันธุ์ถึงกับสูญหายไป ความเสียหายเชิงเศรษฐกิจและการเมือง ปัญหาของลำน้ำที่ขาดคุณภาพในการใช้สอยได้อีกต่อไป จะเป็นปัญหาต่อส่วนรวมในการจัดหาแหล่งน้ำใหม่ หรือการลงทุนเพื่อบำบัดน้ำให้สะอาดก่อน การสืบสานวัฒนธรรม เนื่องจากลำน้ำเพชรบุรีเป็นลำน้ำสำคัญสายหนึ่งที่กระทบวัฒนธรรมชุมชน ไปยังถิ่นอื่น รวมทั้งวัฒนธรรมจากถิ่นอื่นมา เพราะในอดีตการสัญจรไปมาในลำน้ำจะทำให้มีการติดต่อสื่อสารกัน เมื่อการคมนาคมทางบกเจริญขึ้น ความสำคัญของลำน้ำก็ลดลงวัฒนธรรมของชุมชนริมฝั่งน้ำที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำเพชรบุรีก็ลดลงตามไปด้วย นอกจากนี้ยังพบว่าคุณภาพชีวิตของผู้คนในลุ่มน้ำ คุณภาพน้ำที่เสียหายส่งผลให้สิ่งแวดล้อมเน่าเสียตามไปด้วย เกิดทัศนะอุจาดไม่สวยงาม ทำให้จิตใจเศร้าหมองและคุณภาพชีวิตตกต่ำลง

อย่างไรก็ตามนอกจากปัญหาสภาพแวดล้อมของแม่น้ำเพชรบุรีตามที่กล่าวมาแล้ว   ยังมีปัญหาสังคม อันเกิดจากรูปแบบการใช้ที่ดิน และกิจกรรมทางน้ำ ส่งผลให้เกิดแรงหนุนในการใช้พื้นที่ริมน้ำมากขึ้น  โดยเฉพาะวิวทิวทัศน์ริมแม่น้ำซึ่งถือเป็นจุดขาย ให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยว กลุ่มคนต่างถิ่น และสังคมที่ต้องการจับจองที่ดินริมน้ำ ทำให้เกิดการเก็งกำไร และการปั่นที่ดินริมแม่น้ำให้มีราคาแพง โดยสังเกตได้ว่าพื้นที่ของผู้อาศัยริมน้ำเพชรบุรีมักเป็นคนที่มีฐานะ เป็นคนต่างถิ่น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม การแปลกแยกทางสังคม และวิถีชีวิตของคนที่อยู่อาศัยริมน้ำเริ่มหายไป
    สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาแม่น้ำเพชรบุรี ได้เริ่มมีการตื่นตัวมากขึ้น เมื่อประชาชนได้เห็นความสำคัญ และรัฐบาลควรได้ตอบสนองความต้องการในการอนุรักษ์และฟื้นฟูแม่น้ำเพชรบุรี เช่นการขุดลอกและพัฒนาแม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งให้ดำเนินการขุดลอกแม่น้ำเพชรบุรี เพื่อเป็นการระบายน้ำและแก้ไขปัญหาแม่น้ำเพชรบุรีที่ตื้นเขิน หลายหน่วยงานต้องเร่งดำเนินการขึ้นมาทันทีโดยเฉพาะกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี กระทรวงคมนาคม โดยเริ่มดำเนินการขุดลอกแม่น้ำเพชรบุรีในหลายจุดที่ตื้นเขิน นอกจากนี้ยังต้องมีโครงการจัดทำแผนแม่บท และแผนปฏิบัติการเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาสภาพแวดล้อมแม่น้ำเพชรบุรีและลำน้ำสาขาขึ้น โดยมียุทธศาสตร์ที่สำคัญคือการฟื้นฟูความสมดุลของระบบนิเวศในลำน้ำและริมฝั่งน้ำ และอีกยุทธศาสตร์หนึ่งคือการพัฒนากลไกกระบวนการบริหารจัดการแม่น้ำเพชรบุรีของชุมชน มีการกำหนดระเบียบและข้อบังคับ การใช้ประโยชน์ และการใช้ที่ดินริมฝั่งแม่น้ำเพชรบุรีและลำน้ำสาขา การควบคุมการบุกรุกลำน้ำเพชรบุรี เช่นการออกกฎหมาย และการให้ประชาชนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมทั้งการสอดส่อง ดูแลป้องกันไม่ให้มีการบุกรุก และช่วยดูแลพื้นที่งอกริมตลิ่ง  รวมทั้งการประกาศพื้นที่ริมแม่น้ำเพชรบุรีเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม การวางผังเมือง ควรให้มีพื้นที่สีเขียว เป็นพื้นที่เปิดโล่ง สำหรับนันทนาการ การควบคุมการปลูกสร้างอาคารริมฝั่งแม่น้ำเพชรบุรี การควบคุมการปล่อยของเสียลงสู่แม่น้ำเพชรบุรีโดยการออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียขนาดครัวเรือนในทุกหลังที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำได้ใช้บำบัดน้ำเสีย  ออกแบบระบบบำบัดน้ำแบบง่ายเพื่อให้ท้องถิ่นได้ช่วยกันบำบัดน้ำก่อนปล่อยลงแม่น้ำ เช่นของอำเภอท่ายางให้มากขึ้น  และการจัดสภาพภูมิทัศน์แม่น้ำเพชรบุรีให้เหมาะสม สวยงามเป็นต้น พื้นที่ริมน้ำ เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญ ต่อวิถีชีวิต เศรษฐกิจและสังคม การแก้ไขปัญหาแม่น้ำเพชรบุรีที่สำคัญ คือการสร้างจิตสำนึกและความตระหนัก ในการอนุรักษ์ รวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง

                                                 อาคเณย์  กายสอน

                                                                           ที่นี่เพชรบุรี    1    มิถุนายน  /2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น