วันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2553

ป่าไม้กับความหลากหลายทางชีวภาพ

                                
                            

นักวิชาการประมาณการว่ามีสิ่งมีชีวิตในโลกนี้มีประมาณ 5 ล้านชนิด ในจำนวนนี้มีอยู่ในประเทศไทย ประมาณร้อยละเจ็ด ประเทศไทยมีประชากรเพียงร้อยละหนึ่ง ของประชากรโลก ดังนั้น เมื่อเทียบสัดส่วนกับจำนวนประชากร ประเทศไทยจึงนับว่ามีความร่ำรวยอย่างมากในด้านความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตสิ่งมีชีวิตในประเทศไทยหลากหลายได้มาก เนื่องจากมีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่หลากหลายและแต่ละแหล่งล้วนมีปัจจัยที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิต นับตั้งแต่ภูมิประเทศแถบชายฝั่งทะเล ที่ราบลุ่มแม่น้ำ และภูเขาที่มีความสูงหลากหลายตั้งแต่เนินเขาจนถึงภูเขาที่สูงชัน ประเทศไทยจึงเป็นแหล่งของป่าไม้นานาชนิด ได้แก่ ป่าชายเลน ป่าพรุ ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบ และป่าสนเขาอย่างไรก็ตาม ในระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยสูญเสียพื้นที่ป่าเป็นจำนวนมหาศาล เนื่องจากหลายสาเหตุด้วยกัน อาทิ การเพิ่มของประชากรทำให้มีการบุกเบิกป่าเพิ่มขึ้น
การให้สัมปทานป่าไม้ที่ขาดการควบคุมอย่างเพียงพอ การตัดถนนเข้าพื้นที่ป่า การเกษตรเชิงอุตสาหกรรม การแพร่ของเทคโนโลยีที่ใช้ทำลายป่าได้อย่างรวดเร็ว การครอบครองที่ดินเพื่อเก็งกำไร เป็นต้น พื้นที่ป่าไม้ซึ่งเคยมีมากถึงประมาณ 2.7 แสนตารางกิโลเมตร หรือประมาณร้อยละ 53 ของพื้นที่ประเทศไทยในปี พ.ศ. 2504 เหลือเพียงประมาณ 1.3 แสนตารางกิโลเมตร หรือประมาณร้อยละ 26 ในปี พ.ศ. 2536 ข้อมูลนี้จากการศึกษาตามโครงการ VAP61 โดยคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แสดงว่าพื้นที่ป่าไม้ลดลงเท่าตัวในช่วงเวลา 32 ปี และส่วนใหญ่ เกิดขึ้นกับป่าบนภูเขาและป่าชายเลน ยังผลให้พืชและสัตว์สูญพันธุ์ อาทิ เนื้อสมัน แรด กระซู่ กรูปรี และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในอนาคตอันใกล้นี้อีกเป็นจำนวนมาก อาทิ ควายป่า ละอง ละมั่ง เนื้อทราย กวางผา เลียงผา สมเสร็จ เสือลายเมฆ เสือโคร่ง และช้างป่า รวมทั้งนก สัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบก สัตว์เลื้อยคลาน แมลง และ สัตว์น้ำอีกเป็นจำนวนมากการทำลายป่าก่อให้เกิดกฤตการณ์ทางธรรมชาติเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แหล่งน้ำที่เคยอุดมสมบูรณ์ เริ่มลดน้อยลง ผืนป่าที่เหลืออยู่ไม่สามารถซับน้ำฝนที่ตกหนัก เกิดปรากฏการณ์น้ำท่วมฉับพลัน ยังผลให้เกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจ บ้านเรือน และความปลอดภัยของชีวิตคนและสัตว์เป็นอันมาก เหตุการณ์น้ำท่วมในที่ต่างๆ เป็นต้นปัญหาความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย จึงเป็นปัญหาใหญ่และเร่งด่วนที่จะต้องช่วยกันแก้ไขด้วยการหยุดยั้งการสูญเสียระบบนิเวศป่าทุกประเภท การอนุรักษ์สิ่งที่เหลืออยู่ และการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมให้กลับคืนสู่สภาพป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพดังเดิม เพราะความหลากหลายเหล่านั้น เป็นพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนสังคมไทยมีพื้นฐานมาจาก สังคมเกษตรกรรม และเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมต้องพึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก วัฒนธรรมไทยหลายอย่างผูกพันกับการแสดงออกซึ่งความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณในการเพาะปลูก คนไทยแต่โบราณจึงมีความอ่อนน้อมต่อธรรมชาติ และผูกพันกับธรรมชาติอย่างแยกกันไม่ออก นับว่าคนไทยมีพื้นฐานเชิงวัฒนธรรมพร้อมมูลอยู่แล้วแม้ว่าการศึกษาสมัยใหม่จะมีการเรียนรู้เกี่ยวกับวิชาการและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า แต่การใช้เทคโนโลยีและวิชาการอย่างไม่เข้าใจหลักการและความสำคัญของสิ่งแวดล้อมปัจจัยที่ผลักดันให้พันธุ์พืชเข้าสู่สภาวะใกล้สูญพันธุ์อันเนื่องมาจากมนุษย์มี 3 ทางด้วยกันคือ การใช้ประโยชน์มากเกินไป การทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย และการนำพืชพันธุ์ต่างถิ่นเข้ามา

การใช้ประโยชน์มากเกินไป มนุษย์รู้จักนำพันธุ์พืชต่างๆ มาใช้ประโยชน์ เพื่อความอยู่ดีกินดีของตนมาตั้งแต่อดีต แต่เป็นการนำมาใช้เพียงในครัวเรือนของตน ดังนั้นจำนวนพืชตามแหล่งที่อยู่อาศัยต่างๆ ยังเหลืออยู่จำนวนมากพอที่จะบำรุงรักษาความสมดุลของระบบนิเวศไว้ได้  และส่วนที่มนุษย์ใช้ไปแล้วก็จะสามารถฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ แต่ในปัจจุบันมนุษย์นำพันธุ์พืชมาเพื่อประโยชน์ทางการค้า  เก็บเกี่ยวจากป่ามากเกินไปและไม่ถูกวิธีจนทำให้จำนวนสะสมในป่าลดลง และประชากรพืชไม่สามารถเติบโตขึ้นมาทดแทนได้ทัน พันธุ์พืชที่เป็นที่ต้องการของตลาดมากจะมีจำนวนประชากรลดลงเร็ว ผลักดันให้พันธุ์พืชชนิดนั้นๆ เข้าสู่สภาวะหายากและใกล้สูญพันธุ์  มนุษย์นำพันธุ์พืชมาใช้ประโยชน์ได้หลายทาง ได้แก่ นำมาเป็นอาหาร ใช้ส่วนของยอดอ่อน หน่ออ่อน ดอก ผลหรือเมล็ดมาเป็นอาหาร ถ้าพิจารณาเพียงผิวเผินจะเห็นว่าต้นพืชก็ยังอยู่  ไม่น่าจะทำให้พืชเกิดสภาวะหายากและใกล้สูญพันธุ์ ถ้าต้นแก่เกิดตายลงก็จะไม่มีพืชต้นใหม่ทดแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามนุษย์เก็บดอกผลหรือเมล็ดมามากเกินไป จะทำให้แมลง นก หรือสัตว์ป่าบางชนิดขาดแหล่งอาหารไปด้วย  การใช้เนื้อไม้ ซึ่งจะเป็นการตัดไม้มาใช้ในการก่อสร้างเครื่องเรือน เครื่องใช้ต่างๆ บางชนิดจะนำมาเป็นเครื่องหอม เช่น กฤษณา โดยการถากเนื้อไม้ให้เป็นแผล ซึ่งเป็นการรบกวนทำร้ายพืชอย่างมหันต์ และพืชจะตายลงในที่สุดนำมาเป็นไม้ประดับ พันธุ์พืชที่นิยมของตลาดและลักลอบนำออกมาจากป่ามาก ที่สุด ได้แก่ เฟิร์น และกล้วยไม้ โดยเฉพาะกล้วยไม้สกุลรองเท้านารี สกุลเอื้อง และสกุลแวนด้า มีการส่งกล้วยไม้เหล่านี้ออกต่างประเทศมากเกินไป จนตกอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ 
การทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย การทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยหรือระบบนิเวศ เป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการสูญพันธุ์ของพืช ซึ่งแหล่งที่อยู่อาศัยหรือระบบนิเวศดังกล่าวนี้ส่วนใหญ่ หมายถึงระบบนิเวศที่พัฒนามาจนถึงขั้นสูงสุด 
การสูญพันธุ์โดยการนำพืชต่างถิ่นเข้ามา การนำพืชต่างถิ่นเข้ามาในประเทศไทย เป็นเรื่องที่มีประโยชน์อย่างสูง และมีโทษอย่างมหันต์ ในเรื่องของประโยชน์จะเห็นได้จากตัวอย่างพืชเศรษฐกิจของไทย อย่างเช่น ไทยส่งมันสำปะหลังออกเป็นอันดับหนึ่งของโลกและสับปะรดเป็นอันดับสองของโลก พืชทั้ง 2 ชนิดนี้ เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศบราซิล แต่ที่จะกล่าวต่อไปนี้จะเป็นเรื่องของโทษจากการนำพืชต่างถิ่นเข้ามาทุกๆ ประเทศในโลกต่างก็มีมาตรการในการกักกันตรวจสอบพืชที่ส่งมาจากประเทศอื่น ประเทศไทยได้ตราพระราชบัญญัติกักกันพืช พ.ศ. 2507  มีจุดประสงค์ในการป้องกันและกำจัดชนิดพันธุ์พืชต่างถิ่นที่อาจจะเป็นภัยคุกคามต่อพืชท้องถิ่น หรืออาจเป็นพาหะโรคศัตรูพืชที่อาจจะเข้ามาทำลายพืชและผลิตผลพืชภายในประเทศหรืออาจจะเป็นภัยโดยตรงต่อมนุษย์การนำพืชต่างถิ่นเข้ามาก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ ตัวอย่างเช่น บัวตอง ที่แพร่กระจายเข้ามาจนเกิดความสวยงาม นับว่ามีปัญหาค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากรุกล้ำเข้าสู่ทุ่งหญ้าที่เกิดจากการทำลายป่าได้ดี ทำให้หญ้าและพืชล้มลุกพันธุ์พื้นเมืองหลายชนิดต้องหายไป ไมยราบยักษ์ แพร่กระจายเข้าไปในเขตป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ที่มีแหล่งน้ำและพื้นที่ชื้นแฉะ ไมยราบยักษ์จะขึ้นแก่งแย่งและเอาชนะพืชท้องถิ่น ทำให้พืชดั้งเดิมหลายชนิดสูญหายไปและองค์ประกอบของพรรณไม้ในพื้นที่ป่าผิดไปจากเดิม สัตว์ที่เคยอาศัยอยู่ในบริเวณนั้นต้องย้ายถิ่นที่อยู่ เพราะแหล่งที่อยู่อาศัยเปลี่ยนแปลงไป  ในหลายแหล่งน้ำที่มีการกระจายของผักตบชวา ได้ทำลายพันธุ์พืชน้ำของประเทศไทยมากมาย ซึ่งมีผลต่อเนื่องถึงการลดลงของแมลงในนาและปลาหลายชนิดนอกจากนั้นพืชต่างถิ่นยังช่วยแพร่กระจายโรคพืชที่มีอยู่แล้วในเมืองไทย ก่อนนำพืชต่างถิ่นเข้ามามันยังไม่แสดงอาการระบาดหรือทำลายพืชให้เห็นเด่นชัด เนื่องจากยังไม่มีที่พักพิง  ที่เหมาะสม แต่เมื่อนำพืชต่างถิ่นเข้ามาซึ่งเป็นอาหารที่ชอบมากกว่าพืชที่มีอยู่แล้วในเมืองไทย โรคพืชเหล่านี้จึงขยายพันธุ์และแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และนำไปสู่การทำลายพืชอื่นต่อไป เช่น กระถินเทพา เข้ามาปลูกในประเทศไทยเพราะเป็นไม้โตเร็ว พุ่มสวยงามและใช้ทำประโยชน์ได้หลายอย่าง แต่เมื่อถึงอายุที่จะใช้งานได้จะเป็นโรคไส้หัก กระถินณรงค์ ก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน ถูกแมลง เจาะทำลายอย่างรุนแรงการนำพืชต่างถิ่นเข้ามาจึงมีผลต่อการลดจำนวนของพันธุ์พืชดั้งเดิม ซึ่งอาจจะชักนำพันธุ์พืช เหล่านั้นเข้าสู่สภาวะหายากและสูญพันธุ์
การที่จะรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของบ้านเมืองเราไว้ได้ กระบวนการที่จะต้องให้ความรู้กับชุมชนและสังคมเป็นเรื่องที่กระทำอย่างต่อเนื่องทุกระดับ ตราบใดที่ระดับความรู้ในเรื่องสิ่งแวดล้อมยังไม่ไปสู่ชุมชนและสังคม ความตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ไม่เกิดขึ้นและเราก็ยังต้องเสี่ยงต่อการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพอันเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของชาติไป

                                                                 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น